รอง นรม. พลเอก ฉัตรชัยฯ ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) โดยได้ย้ำถึงเป้าหมายสูงสุดในการปฏิรูปการประมงไทย ให้มีความรอบคอบในทุกด้าน

ข่าวทั่วไป Thursday March 22, 2018 16:13 —สำนักโฆษก

รอง นรม. พลเอก ฉัตรชัยฯ ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) โดยได้ย้ำถึงเป้าหมายสูงสุดในการปฏิรูปการประมงไทยให้มีความรอบคอบในทุกด้าน

วันนี้ (21 มีนาคม 2561) เวลา 13.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลง ร่วมกับ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางไพวรรณ พลวัน รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พร้อมด้วย นายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในกิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” โดยรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) สรุปสาระสำคัญดังนี้

การปฏิรูปการประมงให้เกิดความยั่งยืนเป็นเป้าหมายสูงสุด ที่มุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วนโดยจัดระบบติดตามงาน มีผู้รับผิดชอบ และฐานข้อมูลต้องชัดเจน เช่น เรื่องจำนวนเรือ จำนวนท่าเทียบเรือ การวิเคราะห์เป้าหมาย กระบวนการบังคับ การใช้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อชาวประมง พร้อมปรับแก้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติโดยนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งสร้างบทบาทในเวทีต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ ได้กำหนดกรอบแก้ไข ปัญหาใน 6 เรื่องสำคัญของประเด็น 6 ด้าน ดังนี้

1) ด้านกฎหมาย มีการกำหนดเขตทะเล ชายฝั่ง ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2558 พระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 โดยได้ปรับแก้ไขในบางมาตราเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเดิมไม่ได้กำหนด ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ดังนั้นปัจจุบันได้กำหนดเขตทะเลชายฝั่งตามสภาพภูมิประเทศของแต่ละจังหวัด กำหนดมาตรการ ควบคุม เฝ้าระวัง ทั้ง เรือประมงในน่านน้ำ และนอกน่านน้ำ การแจ้งเข้า-ออกของศูนย์ PIPO การติดระบบติดตามเรือ (VMS) รวมไปถึงการจัดระเบียบท่าเทียบเรือ

2) ด้านการจัดการกองเรือ ซึ่งมีความชัดเจนของกองเรือประมง รวมทั้ง เรือจม เรือหาย หรือขายไปต่างประเทศ ปัจจุบันพบว่าเรือประมงไทย สร้างความชัดเจนของสถานะจำนวนเรือประมงที่แน่นอนทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ จัดทำอัตลักษณ์ และวัดขนาดเรือประมง พาณิชย์ทุกลำ สำรวจความมีอยู่จริงแก้ปัญหาสวมเรือ (จม/ผุพัง/ขายไปที่อื่น) ควบคุมเรือที่ไม่มีใบอนุญาต และเรือที่มีคดีไม่ให้ออกไปทำประมงทั้งในและนอกน่านน้ำลดผลกระทบด้วยการซื้อเรือคืน และลดจำนวนเรือด้วยการควบรวมเรือประมง

3) ด้านการติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง (MCS) มีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมและเฝ้าระวังการทำการประมง (FMC) จัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) จำนวน 32 ศูนย์ เพิ่มประสิทธิภาพ โดยปรับโครงสร้างของศูนย์ฯ จำนวนเจ้าหน้าที่ ให้สอดคล้องกับจำนวนเรือประมงที่แจ้งเข้าออก และจัดตั้งจุดตรวจเรือประมงส่วนหน้า (FIP) จำนวน 19 ศูนย์ เพื่อเข้าไปสนับสนุนและประเมินผลการปฏิบัติ การติดระบบติดตามเรือประมง (VMS) ปัจจุบันมีผลบังคับให้เรือประมงพาณิชย์ (30 ตันกรอสขึ้นไป) และเรือสนับสนุนต่างๆ ต้องติด VMS ซึ่งได้ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว

4) ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ปัจจุบันมีการจดทะเบียนท่าเทียบเรือทั้งหมด จำนวน 1,063 ท่า ท่าใดไม่จดทะเบียนขึ้นปลา ไม่ได้มีการแยกประเภทท่าเทียบเรือชัดเจน เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการและจัดระบบทุกท่าเทียบเรือโดยต้องผ่านการตรวจสุขอนามัย และมีเอกสารการกำกับการซื้อขายด้วย

5) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้กฎหมาย ในประเด็นการทำการประมงผิดกฎหมาย โดยได้ประชุมหารือร่วมกัน ระหว่าง ตำรวจ อัยการ ศาล และตัวแทนจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน ให้มีความรวดเร็ว โดยศาลอาญาได้ตั้งคณะผู้พิพากษาคดีประมงแยกเป็นการเฉพาะ รวมทั้งกำหนดเวลาพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

6) ด้านแรงงาน ดำเนินการการปรับปรุงพระราชกำหนดบริหารแรงงานต่างด้าว (คาดว่าบังคับใช้ใน มิถุนายน 2561) การเข้าเป็นภาคีต่างๆ ภายในปี พ.ศ. 2561เช่น C29 (แรงงานบังคับ) C188 (ความปลอดภัยการทำงานในทะเล) ILO98 (ส่งเสริมการเจรจา ต่อรอง) มีการวางระบบตรวจสอบแรงงานที่ศูนย์ PIPO อย่างชัดเจน เช่น แรงงานที่เข้าออกต้องตรงกัน ทั้งจำนวน และตัวตน การจัดล่ามสัมภาษณ์แรงงาน เพื่อสืบสวนการเอารัดเอาเปรียบ พฤติกรรมบังคับแรงงาน การค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก โดยแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมการรวมตัวของแรงงานประมงไทยและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งได้มีการแถลงข่าวจัดตั้งสหภาพแรงงานลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ เป็นองค์กรลูกจ้างตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการรวมตัว คุ้มครองสิทธิ์ จากนั้นจะมีการประชุมด้านแรงงานระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU) ภายในเดือนพฤษภาคม 2561

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า "การดำเนินการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) รัฐบาลดำเนินการด้วยความรอบคอบ ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมการดำเนินการในทุกเรื่อง มีแผนงาน มีเป้าหมาย กรอบเวลาชัดเจน พร้อมนำไปสู่การสร้างความสมดุลในการแก้ปัญหาการทำประมงได้อย่างยั่งยืน"

………………………………………………….

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ