ครม.อนุมัติโครงการอุทยานดาราศาสตร์และอุทยานวิทยาศาสตร์

ข่าวทั่วไป Tuesday May 29, 2012 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการอุทยานดาราศาสตร์(Astro Park) กรอบวงเงินงบประมาณ 406 ล้านบาทเศษ ที่อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1(พ.ศ.2556-2558) วงเงินงบประมาณ 203 ล้านบาทเศษ และ ระยะที่ 2(พ.ศ. 2558-2559) วงเงินงบประมาณ 202 ล้านบาท

อุทยานดาราศาสตร์(Astro Park) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในโรดแมพของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งจะเป็นศูนย์เชื่อมโยงการทำงานของสถาบันให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาสถาบันไปสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านดาราศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางดาราศาสตร์ในประชาคมอาเซียน

ประกอบด้วย อาคารศูนย์วิจัยและบริการทางดาราศาสตร์ อาคารพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ไทย และส่วนนิทรรศการ อาคารฉายดาว อาคารหอดูดาว ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบริชชี-เครเทียนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร ตัวอาคารครอบด้วยโดมทำจากวัสดุไฟเบอร์กลาส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวเป็นกล้องที่มีความทันสมัยมีขีดความสามารถสูงสามารถ รองรับการวิจัยในระดับเบื้องต้นได้ระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อน เปิดออกได้ (sliding roof) ซึ่งจะติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีความสามารถสูง ใช้ในการให้บริการดูดาวและใช้ในการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า จำนวน 4-6 กล้อง อาคารหอประชุมและสัมมนา ห้องประชุมอเนกประสงค์ 2 ห้อง ความจุ 100 และ 200 ที่นั่ง ห้องคอมพิวเตอร์สำหรับฝึกอบรม และการสืบค้นข้อมูลห้องสมุดดาราศาสตร์ และลาน กิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง(amphitheatre) ใช้ในการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การดูดาวได้ถึง 500 คน

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติยุทธศาสตร์การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ (พ.ศ.2556-2560) และโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 1 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง(พ.ศ.2556-2558) พร้อมกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 8,642 ล้านบาท จัดสรรเป็นงบอุดหนุนผ่านทางสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเป็นหน่วยงานในการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ, มหาวิทยาขอนแก่นเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ มหาวิทยาสงขลานครินทร์จะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานอทยานวิทยศาสตร์ภาคใต้ โดยจะบูรณาการการทำงานร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ