"สุเมธ" เผยแนวทางบริหารน้ำของในหลวงทรงเน้นเป็นระบบตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ

ข่าวทั่วไป Wednesday June 13, 2012 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พระอัจฉริยภาพเรื่องการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้หยาดเหงื่อกว่า 65 ปี ในการศึกษาแนวทางการจัดการน้ำเพื่อเป็นบทเรียนแนะแนวให้แก่ภาครัฐสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างโครงการพระราชดำริต่างๆ ในการบริหารจัดการน้ำ เช่น โครงการแก้มลิง สร้างฝายชะลอน้ำ สร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนการใช้ธรรมชาติบำบัดน้ำเสีย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งว่า การบริหารการจัดการน้ำจะต้องบริหารจัดการธรรมชาติด้วยความเคารพ และทำอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยการดูแลรักษาป่าเพื่อรักษาต้นน้ำไม่ให้ถูกทำลาย เนื่องจาก 15-20 เปอร์เซ็นของฝนที่ตกลงมา ป่าจะทำหน้าที่ดูดซับน้ำ

พร้อมทั้งต้องทำแก้มลิงเพื่อเก็บน้ำที่เป็นส่วนเกินไว้ใช้ในหน้าแล้ง รวมถึงสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อให้น้ำไหลช้าลง สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ และเป็นน้ำเลี้ยงพืชพันธุ์ใต้ดินให้เจริญเติบโตและฟื้นกลับคืนมาเป็นป่าต้นน้ำต่อไป ส่วนช่วงกลางน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ระหว่างกลางเขาและที่ราบ จะต้องมีการบริหารการจัดการน้ำในผืนป่าเศรษฐกิจ ได้แก่ ป่าผลไม้ หรือสวนผลไม้และสวนผักต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ได้เหมือนป่าเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้นในส่วนของการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการสร้าง ตลอดจนการบริหารจัดการและการใช้งาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่ปลายน้ำหรือในเขตเมืองนั้น พบว่ามีขยะและน้ำเสียเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีการใช้น้ำและทำลายไปพร้อมกัน ดังนั้นต้องใช้หลักการบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบโดยพึ่งพาธรรมชาติและใช้สติปัญญาของมนุษย์ เช่น การใช้ผักตบชวาดูดซับน้ำเสีย การใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย การปรับวิถีชีวิตและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติและภัยพิบัติได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ