ก.สาธารณสุข ดีเดย์ 1 ก.ย.ให้ประชาชนร่วมจ่าย 30 บาทเมื่อรับยา

ข่าวทั่วไป Friday August 31, 2012 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป ประชาชนจะร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคยุคใหม่ โดยการให้ประชาชนร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทจะดำเนินการเฉพาะการรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป จนถึงโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ รวมทั้งโรงพยาบาลสังกัดอื่น และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ในกรณีเดียวคือเฉพาะรายที่ได้รับยาเท่านั้น ซึ่งในกลุ่มผู้ที่มีบัตรทอง 30 บาทที่อยู่ในข่ายร่วมจ่ายมี 25.9 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม หากไม่ประสงค์จะร่วมจ่ายก็สามารถสงวนสิทธิ์ได้ โดยในปีงบประมาณ 2556 นี้รัฐบาลได้จัดสรรงบรายหัวในโครงการ 30 บาท ในอัตรา 2,755.60 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 หัวละ 209.12 บาท

ส่วนผู้ที่ใช้บริการตรวจโรคหรืออื่นๆ เช่นทำแผล ฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลที่กล่าวมาที่ไม่ได้รับยา รวมทั้งใช้บริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ศูนย์สุขภาพชุมชนในถิ่นทุรกันดาร และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือ รพ.สต. ทั่วประเทศ ยังเป็นการให้บริการฟรีทั้งหมดเช่นเดิม

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า กลุ่มประชาชนที่ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาท ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับการยกเว้นเดิม 20 กลุ่ม เช่นผู้พิการ ผู้สูงอายุ พระภิกษุ สามเณร แม่ชี ผู้นำศาสนาอิสลาม เป็นต้น และผู้ที่ใช้บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค เช่นฉีดวัคซีน การเข้ารับบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤติ/ฉุกเฉินเร่งด่วน หรือเข้ารับบริการในหน่วยบริการระดับต่ำกว่าโรงพยาบาลชุมชน คือที่ รพ.สต. 9,750 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชนในถิ่นทุรกันดาร 200 แห่ง และศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 240 แห่งทั่วประเทศ โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวยื่นเมื่อเข้ารับบริการ การบริการเร็วขึ้น มีระบบให้คำปรึกษาออนไลน์หรือระบบการแพทย์ทางไกล เทเลเมดิซิน (Telemedicine) ระหว่าง รพ.สต. หรือ ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองที่อยู่ใกล้บ้านกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลในเมืองก็ได้

สำหรับ ผลการดำเนินงานโครงการ 30 บาทในรอบปีที่ผ่านมา พบว่าประชาชนได้รับการดูแลทั่วถึง โดยมีผู้เข้าใช้บริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก 153 ล้านกว่าครั้ง และนอนรักษาในโรงพยาบาล 5 ล้านกว่าราย โดยในผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงหรือโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะ 7 โรคได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการบำบัด 447,182 ราย ผ่าตัดสมอง 4,715 ราย ผ่าตัดหัวใจ 38,847 ราย ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม 6,292 ราย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับการดูแลล้างไตและฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมรวม 25,001 ราย และผ่าตัดเปลี่ยนไต 662 ราย ส่วนผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเอดส์ได้รับยาต้านไวรัส 153,214 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ