คณะผู้เชี่ยวชาญฯ เสนอให้สธ.ออกประกาศให้"อีโบลา"เป็นโรคติดต่ออันตราย

ข่าวทั่วไป Thursday August 7, 2014 12:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์เพี่อเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประกาศให้โรคติดเชื้ออีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันโรค และให้เรียกโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาแทนไข้เลือดออกอีโบลา เพื่อป้องกันความสับสน พร้อมเพิ่มมาตรการความพร้อมด้านระบบการเฝ้าระวังโรคที่สนามบินนานาชาติ มาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล รถพยาบาลฉุกเฉิน การสร้างเครือข่ายการตรวจทางห้องปฏิบัติการระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับมหาวิทยาลัย

"ที่ประชุมฯ สนับสนุนให้ประกาศโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2523 ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการควบคุม ป้องกันโรค เพราะจะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการกักกันผู้ป่วย ผู้สัมผัสโรคเมื่อมีความจำเป็น และในการเรียกข้อมูลจากผู้ที่เดินทางได้ เช่น ที่พำนัก หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งจะช่วยให้ติดตามเฝ้าระวังการป่วยได้" ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพี่อเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้กำหนดการเรียกชื่อโรคเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ขณะนี้สากลใช้ชื่อว่า Ebola Virus Disease:EVD แปลเป็นภาษาไทยว่า โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ไม่ใช้ชื่อโรคไวรัสไข้เลือดออกอีโบลาแล้ว เพราะฉะนั้นในประเทศไทยควรใช้ชื่อให้สอดคล้องกับสากลคือใช้คำว่า โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เท่านั้น อาจเรียกสั้นๆว่า โรคอีโบลา" ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพี่อเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ กล่าว

โดยสถานการณ์โรคติดเชื้ออีโบลา องค์การอนามัยโลกรายงาน ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2557 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,603 ราย เสียชีวิต 887 ราย อัตราป่วยตาย 55% ใน 4 ประเทศ คือ ไลบีเรีย, เซียร์ราลีโอน, กินี และไนจีเรีย โดยผู้ป่วยในประเทศไนจีเรียเป็นผู้ที่เดินทางจากประเทศไลบีเรีย ไม่ได้ติดเชื้อในประเทศไนจีเรีย และมีผู้ติดจากผู้ป่วยรายนี้อยู่น้อยราย ขณะนี้ประเทศไลบีเรียและเซียร์ราลีโอนกำลังมีผู้ป่วยรายใหม่จำนวนมากและต่อเนื่อง จำนวนนี้บางส่วนเป็นบุคลากรทางการแพทย์

สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคของไทยขณะนี้ได้วางมาตรการไว้ 7 ประการ ได้แก่ 1.ให้ติดตามสถานการณ์ และประสานความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด 2.ติดตามเฝ้าระวังในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีโรคระบาดอยู่คือ ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน กินี และไนจีเรีย โดยคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่สนามบินนานานาชาติทุกแห่ง และติดตามอาการจนครบ 21 วัน และเฝ้าระวังสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศ 3.เตรียมความพร้อมการตรวจทางห้องปฎิบัติการทั้งในคนโดยเครือข่ายห้องปฏิบัติการ และในสัตว์โดยกรมปศุสัตว์

4.เตรียมด้านการรักษาพยาบาล ป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 5.การสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนเข้าใจ แนะนำผู้เดินทางที่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้เข้าใจตรงกันและถูกต้อง ไม่คอยฟังข่าวลือต่างๆ เช่น ทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีความน่าเชื่อถือน้อย ควรติดตามข้อมูลที่เป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีการตรวจสอบแล้ว และเชื่อถือได้ 6.กระทรวงฯ ได้เปิดวอร์รูม เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ ประสานงาน สั่งการ ป้องกัน ควบคุมโรค ทุกวัน และ 7.มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินสถานการณ์และปรับปรุงมาตรการต่างๆ ที่วางเอาไว้ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับการกำหนดพื้นที่การระบาด เพื่อประโยชน์ในการวางมาตรการป้องกันควบคุมโรค ควรถือตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ซึ่งขณะนี้ถือว่าประเทศที่มีโรคระบาด คือ ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน กินี ส่วนไนจีเรียยังไม่จัดรวมเข้าในประเทศที่มีโรคระบาด เพราะผู้ป่วยรายแรกติดเชื้อจากประเทศอื่น และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มไม่กี่ราย หากการติดเชื้อกว้างขวางขึ้น ก็จะกำหนดพื้นที่ระบาดใหม่

ส่วนเรื่องการวินิจฉัย ควรกำหนดหลักเกณฑ์วินิจฉัย โดยใช้ปัจจัยสำคัญ เช่น ผู้ป่วยมีไข้ มีประวัติเดินทางมาจากในพื้นที่เสี่ยง มีอาการเข้าได้กับโรคอีโบลา มีประวัติการสัมผัสโรค โดยเฉพาะสัมผัสกับผู้ป่วย และควรปรับเกณฑ์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เสนอให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยประสานความร่วมมือของเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการภายในประเทศ และร่วมมือกันจัดทำแนะนำแนวทางการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่รวดเร็ว ถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อให้การวินิจฉัยที่รวดเร็ว ถูกต้อง และบุคลากรปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วยสงสัยโรคอีโบลา สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดทำขึ้น และแนะนำให้เผยแพร่แก่บุคลากรโดยเร็ว ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคล รวมทั้งห้องแยกโรคป้องกันการติดเชื้อ ในโรงพยาบาลต่างๆ ได้มีการเตรียมการต่อเนื่องมาตั้งแต่การรับมือโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่

"การสื่อสารความเสี่ยงและการประชาสัมพันธ์ควรเผยแพร่ทุกช่องทางทั้งแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน เพื่อให้อุ่นใจว่ามีการดูแล เตรียมความพร้อม ป้องกันไว้ล่วงหน้า สำหรับการประเมินความเสี่ยงเห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงน้อยมากต่อการระบาดของโรคอีโบลา" ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ