สธ.ประชุมคณะกรรมการฯระดับชาติพร้อมรับมือ“อีโบลา-โคโรน่า"

ข่าวทั่วไป Wednesday August 20, 2014 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ประธานฝ่ายสังคมและจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้มอบหมายให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 โดยมี 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นทีมเลขานุการ เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน

ด้านนพ.ณรงค์ กล่าวว่า ในที่ประชุมในวันนี้ จะมีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.2556-2559 ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว 2.การจัดการระบบการเลี้ยงและสุขภาพสัตว์และสัตว์ป่า ให้ปลอดโรค 3.การพัฒนาระบบจัดการความรู้ และส่งเสริมการวิจัย พัฒนา 4.การพัฒนาระบบบริหารจัดการเชิงบูรณาการและเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และ5.การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ความเสี่ยงโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยมีเรื่องที่ต้องร่วมกันพิจารณา 2 เรื่อง คือการเตรียมพร้อมของไทยต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2012 ซึ่งไทยยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศ

สำหรับสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2557 พบผู้ป่วยใน 4 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย มีผู้ติดเชื้อรวม 2,240 ราย เสียชีวิต 1,229 ราย ขอบเขตการระบาดยังอยู่ในทวีอาฟริกาตะวันตก ซึ่งประเทศไทยมีความเสี่ยงต่ำที่จะพบการระบาดของโรคนี้ แต่เพื่อความไม่ประมาท เพราะมีโอกาสที่เชื้อจะเข้าสู่ประเทศผ่านผู้เดินทางเข้า-ออกจากประเทศที่มีการระบาด จึงได้มีมาตรการเตรียมพร้อมรับมือ 2 มาตรการหลักคือ การตรวจคัดกรองผู้มาจากพื้นที่เสี่ยง และการเตรียมพร้อมโรงพยาบาล บุคลากร ห้องปฏิบัติการ โดยให้กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคอย่างใกล้ชิด

ส่วนโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส มีผู้ป่วยสะสมทั่วโลก 853 ราย เสียชีวิต 330 ราย ใน 21 ประเทศจาก 3 ภูมิภาค คือตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา ไทยไม่พบผู้ป่วยโรคนี้เช่นกัน แต่มีโอกาสเสี่ยงจากการเดินทางไปท่องเที่ยว ประกอบธุรกิจ หรือประกอบศาสนกิจในพื้นที่ที่มีการระบาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ