สธ.เผยพบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอีโบลารายแรกในไทยรอลุ้นผลตรวจวันนี้

ข่าวทั่วไป Tuesday September 2, 2014 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เผยพบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอีโบลารายแรกเย็นวานนี้ โดยเป็นผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดและมีอาการไข้ ขณะนี้รับตัวไว้ดูแลในโรงพยาบาลในสังกัดตามมาตรฐานขั้นสูงสุดและดีที่สุด ซึ่งวันนี้อาการดีขึ้น และได้ส่งเลือดตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และ รพ.จุฬาฯ เบื้องต้นคาดว่าจะทราบผลวันนี้ พร้อมติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 16 ราย

"เมื่อเย็นวานนี้(1 ก.ย.) กระทรวงสาธารณสุขพบผู้มีอาการเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคอีโบลา 1 ราย นับเป็นรายแรกของประเทศ เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด มีอาการไข้ 38.8 องศาเซลเซียล เจ็บคอ มีน้ำมูก ได้รับตัวไว้ดูแลรักษาในห้องแยกโรคของโรงพยาบาลในสังกัด ให้การดูแลตามมาตรฐานสากล แพทย์ได้เจาะเลือดส่งตรวจหาเชื้ออีโบลาครั้งที่ 1 ส่งเลือดตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ คาดว่าจะทราบผลเบื้องต้นภายในวันนี้ และวางแผนเจาะเลือดครั้งที่ 2 ในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อยืนยันซ้ำ ให้มั่นใจ" นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ขณะนี้ สธ.ได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือทีมเอสอาร์อาร์ที(SRRT) จากกรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ออกไปค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้อยู่ในข่ายสอบสวนโรครายนี้ทั้งหมด 16 รายเพื่อนำตัวเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังติดตามอาการในโรงพยาบาล 21 วันตามมาตรฐานที่วางไว้ แม้ว่าทุกรายจะมีอาการปกติ ทั้งนี้ เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุดและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชน สำหรับการรักษาได้ให้การดูแลรักษาตามอาการเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อทั่วไปตามมาตรฐานสากล

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดเช้านี้อาการผู้ป่วยดีขึ้น ตรวจวัดสัญญาณชีพและวัดไข้ทุก 4 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยทุกคนใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อ และเครื่องมือแพทย์ที่ใช้กับผู้ป่วยได้ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการให้ผลลบทั้ง 2 ครั้ง ก็จะนำผลเข้าสู่การพิจารณาของทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการเพื่อวินิจฉัยและตัดออกจากระบบการเฝ้าระวังสอบสวนโรค ส่วนผู้สัมผัสทั้งหมดก็จะยุติการติดตาม

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชน อย่าตระหนก และใช้ชีวิตตามปกติ และติดตามข่าวความคืบหน้าเรื่องผู้ป่วยและโรคอีโบลาจากกระทรวงสาธารณสุข ขอให้หมั่นล้างมือหลังสัมผัสสิ่งของหรือออกจากห้องน้ำห้องส้วม ยืนยันว่าโรคนี้ติดต่อกันยาก ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูงและอาการอื่นๆ โดยเชื้อจะอยู่ในเลือด หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย รวมทั้งอาเจียน ส่วนการสัมผัสอย่างผิวเผิน เช่น บ้านใกล้กัน เดินสวนกัน กินข้าวร้านเดียวกันหรือร่วมโต๊ะเดียวกันจะไม่ติดโรค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ