ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม 7 ชนิด

ข่าวทั่วไป Tuesday November 18, 2014 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

เนื่องจากในปัจจุบันได้รับรายงานว่ายังมีการระบาดของโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้เดิมรวม 69 ชนิด และสถานการณ์การระบาดของโรคมีความรุนแรงและกระทบต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ และบางโรคส่งผลต่อความปลอดภัยของมนุษย์เนื่องจากเป็นโรคสัตว์ติดต่อสู่คนและมีการแพร่ระบาดจากคนสู่คน จึงกำหนดให้โรคดังต่อไปนี้ รวม 7 ชนิด เป็นโรคระบาดสัตว์เพื่อให้สามารถนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มาดำเนินการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้สามารถขอการรับรองสถานภาพปลอดโรคจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organisation for Animal Health : OIE) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกได้ด้วย

โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร Porcine Epidemic Diarrhea (PED) มีการระบาดของโรคดังกล่าวในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร เนื่องจากเชื้อไวรัส PEDV ทำให้เกิดโรคในสุกรได้ทุกช่วงอายุมีอัตราการป่วยได้ถึงร้อยละ 100 มีการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในลูกสุกรอายุต่ำกว่า 3 สัปดาห์ จะแสดงอาการรุนแรงมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 50 – 100 ซึ่งลูกสุกรมักตายภายใน 2 – 7 วัน หลังจากแสดงอาการ ทำให้เกิดความสูญเสียในการผลิตสุกร

โรค Peste des Petits Ruminants (PPR) ในแพะ แม้ประเทศไทยได้รับการรับรองสถานภาพปลอดโรค PPR จากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) แต่เนื่องจากมีรายงานการระบาดของโรคดังกล่าวในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศใกล้เคียง เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว

โรค Contagious Bovine Pleuropneumonia (CBPP) ในโค เป็นโรคที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ให้การรับรองสถานภาพปลอดโรค ซึ่งประเทศสมาชิกที่ต้องการได้รับการรับรองสถานภาพปลอดโรค จะต้องแสดงข้อมูลเฝ้าระวังโรคทั้งทางอาการและทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงข้อมูลในด้านการป้องกันและควบคุมโรค

โรคตับวายเฉียบพลัน (Acute Hepatopancreatic Necrosis Disease (AHPND) มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Vibrio parahaemolyticus ในกุ้งทะเล ซึ่งพบการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทย ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลมีปริมาณลดน้อยลงและ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งทะเลของไทย ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาท

โรค African Swine Fever (ASF) ซึ่งยังคงมีรายงานการระบาดอยู่ในต่างประเทศ และเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเกิดการอุบัติของโรคขึ้นในประเทศไทย และเพื่อขอการรับรองสถานะปลอดโรค ASF จากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)

โรคบลูทัง (Bluetongue) เนื่องจากมีรายงานการเกิดโรคในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริการ ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย และในช่วงที่ผ่านมาได้มีการนำเข้าแพะ แกะ จำนวนมาก เพื่อมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ในโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงแพะ แกะ ในภาคใต้ ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะแพร่กระจายมายังประเทศไทย

โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola Virus Disease) ในลิง โรคนี้จัดเป็นโรคสัตว์ติดต่อสู่คน (Zoonosis) โดยมีหลักฐานการติดเชื้อครั้งแรกเกิดจากมุนษย์ สัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อจากสัตว์จำพวกลิงหรือค้างคาว จากนั้นได้มีการระบาดของโรคจากคนสู่คน ด้วยวิธีการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และปัจจุบันไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 – 90 ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้ประกาศให้โรคนี้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ