ก.เกษตรฯตั้ง 5 ศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงรับมือสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงปีนี้

ข่าวทั่วไป Saturday January 24, 2015 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีคนแรกของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร คาดการณ์ว่า สถานการณ์น่าจะมีความรุนแรงกว่า ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเข้าสู่ช่วงปรากฎการณ์เอลนิโญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งระหว่างต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2558 นี้ สถาบันด้านอุตุนิยมวิทยา ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้คาดหมายว่าปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าเกณฑ์ปกติในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ประกอบกับพฤติกรรมการเผาป่าและเศษซากพืชในไร่นาทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในระยะจากนี้ไป จะทำให้เกิดการสะสมของหมอกควันซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กจำนวนมากที่มีปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือ และยังมีผลทำให้โอกาสการเกิดฝนในธรรมชาติลดลงด้วย ซึ่งจะซ้ำเติมให้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ อธิบดีวราวุธ ได้ฝากถึงภาคราชการและเอกชนให้ช่วยกันรณรงค์และเพิ่มมาตรการในการบริหารจัดการเพื่อลดการเผาป่าและเศษซากพืชในไร่นาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ในส่วนการเตรียมความพร้อมของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเพื่อสู้กับสถานการณ์ ภัยแล้งและปัญหาหมอกควันในช่วงฤดูแล้งนี้ อธิบดีวราวุธ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ขอนแก่น ระยอง และสุราษฎร์ธานี เตรียมความพร้อมและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดแล้ว ถึงแม้ว่าตามสถิติข้อมูลความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในระดับที่เมฆก่อตัวจะเข้าสู่เกณฑ์ 60% ที่สามารถทำฝนได้จะต้องเป็นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป แต่ก็มี บางวันและบางพื้นที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีลมสอบเข้าหากันทำให้ความชื้นสูงขึ้นก็จะสามารถขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในบริเวณดังกล่าวได้ โดยขณะนี้ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วไว้แล้ว 2 ชุดที่สนามบินนครสวรรค์เพื่อเตรียมปฏิบัติภารกิจนี้แล้ว

สำหรับแผนปกติตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 จะเริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจนครบ 10 หน่วย ตามอัตรากำลังที่กรมมีอยู่และรวมทั้งหน่วยบินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ โดยในภาคเหนือจัดตั้งหน่วยที่เชียงใหม่ และพิษณุโลกหรือตาก ภาคกลางจัดตั้งหน่วยที่นครสวรรค์ และลพบุรีหรือกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งหน่วยที่ขอนแก่น และนครราชสีมาหรืออุบลราชธานี ภาคตะวันออกจัดตั้งหน่วยที่ระยอง และจันทบุรีหรือสระแก้ว ภาคใต้จัดตั้งหน่วยที่ หัวหิน และสุราษฎร์ธานี หรือนครศรีธรรมราช

อธิบดีวราวุธ ได้กล่าวถึงมาตรการการมีส่วนร่วมของผู้รับบริการว่า ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มโครงการจัดตั้งอาสาสมัครฝนหลวงในทุกภาคของประเทศ โดยมีตัวแทนเกษตรกรในระดับอำเภอเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครฝนหลวงและผ่านการฝึกอบรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้จะ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานข้อมูลทั้งในด้านการรายงานสภาพการเพาะปลูกและบริเวณพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ตลอดจนรายงานผลการตกของฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวัน รวมไปถึงความสามารถในการสังเกตเมฆที่เหมาะสมในการทำฝนหลวงและแจ้งตำแหน่งเป้าหมายให้หน่วยที่อยู่ใกล้ที่สุดขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงได้ทันเวลา ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญและพร้อมดำเนินการเต็มรูปแบบในปีนี้


แท็ก เอลนิโญ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ