กรมชลฯเผยน้ำในเขื่อนหลายแห่งเหลือน้อย เน้นเพื่ออุปโภค-บริโภคเป็นหลัก

ข่าวทั่วไป Monday March 23, 2015 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศล่าสุด(23 มี.ค.58) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 39,607 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 16,104 ล้านลูกบาศก์เมตร

สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ภาคเหนือ อาทิ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของความจุอ่างฯ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,593 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,300 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 395 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ

ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 42 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 233 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 681 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ ฯ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 69 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ

สำหรับในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 404 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำ 107 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 12,509 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของความจุอ่างฯ เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 4,583 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนหลายแห่งได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้จะเน้นการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการอุปโภค–บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ของแต่ละลุ่มน้ำเป็นหลัก ทำให้พื้นที่ชลประทานของแต่ละเขื่อนไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ