กรมประมง ประกาศปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน 3 เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.

ข่าวทั่วไป Friday March 27, 2015 11:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เตรียมประกาศปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน รวมระยะเวลา 3 เดือน ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำได้ขยายพันธุ์

ทั้งนี้ การ“ปิดอ่าวทะเลอันดามัน" เป็นมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก ฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำได้วางไข่ ขยายพันธุ์เจริญเติบโต ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 4,696 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งเครื่องมือทำการประมงต้องห้ามตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่ เครื่องมืออวนลากทุกประเภททุกขนาดที่ใช้ประกอบเรือกล เครื่องมืออวนประเภทล้อมจับทุกชนิด เครื่องมืออวนติดตาที่มีช่องตาเล็กกว่า 4.7 ซม. โดยมีบทกำหนดโทษ หากมีชาวประมงรายใดฝ่าฝืนใช้เครื่องมือต้องห้ามทำการประมงในพื้นที่ที่ได้ประกาศปิดอ่าวฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ห้าพันบาท ถึง หนึ่งหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ

สำหรับ มาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2558 นี้ เป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ซึ่งประกอบด้วย 6 หน่วยงาน คือ กรมประมง กองทัพเรือ (ทัพเรือภาคที่ 3) กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมศุลกากร ในการตรวจตราเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมายโดยเคร่งครัด เข้มงวดกวดขันไม่มีการผ่อนผันแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังการทำประมงต่างๆ อาทิ ประมงอาสา ฅนเฝ้าทะเล ยุวประมง ฯลฯ ในการช่วยเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องดูแลการทำประมงที่ผิดกฎหมายร่วมกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผลพวงของความสำเร็จจากการปลูกจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ให้เกิดความตระหนักรักและหวงแหนในทรัพยากรพื้นถิ่นของตน

ในปีที่ผ่านมา ผลจากการสำรวจสภาวะทรัพยากรบริเวณเขตปิดอ่าวฯ ด้วยเรือสำรวจประมง พบว่า ในช่วงระหว่างมาตรการฯ มีอัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยสูงถึง 699.13 กก./ชม. ซึ่งมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น 1.4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 ที่มีอัตราการจับเฉลี่ย 497.99 กก./ชม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งทำการประมงที่สำคัญพื้นที่บริเวณระหว่างเกาะพีพีและเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พบว่า ช่วงก่อนมาตรการ และช่วงสิ้นสุดมาตรการ มีอัตราการจับเฉลี่ย 62.04 และ 456.90 กก/ชม. ตามลำดับ จึงเห็นได้ว่าช่วงสิ้นสุดมาตรการมีอัตราการจับเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนมาตรการถึง 7.36 เท่า นอกจากนี้ บริเวณที่ทรัพยากรเสื่อมโทรมเนื่องจากมีการทำประมงที่มากเกินสมดุลของธรรมชาติที่จะผลิตทดแทนได้ทัน (Over fishing) รวมทั้งปลาผิวน้ำและปลาหน้าดินที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิดที่เคยหายไป กลับฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ดังนั้น จึงสามารถยืนยันได้ว่ามาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน สามารถรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำที่กำลังมีไข่ และเข้ามาวางไข่เลี้ยงลูก ให้เพิ่มปริมาณขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปลาทู ซึ่งเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศ ได้อย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ