สพฉ.เตรียมพร้อมบุคลากร-เครื่องมือแพทย์ รับมือ 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์

ข่าวทั่วไป Thursday April 9, 2015 10:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางมากที่สุด และเป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่าช่วงปกติว่า สพฉ.ได้ประสานไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทั่วประเทศให้ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ สายด่วน 1669 ให้พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว และได้เตรียมพร้อมบุคลากรเพื่อให้เพียงพอต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยจะมีผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆ และจังหวัดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูง

ทั้งนี้ สพฉ.ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเตรียมสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยานด้วย และหากมีเหตุรุนแรงมากจนระบบการสื่อสารล่ม สพฉ.ได้เตรียมรถสื่อสารพิเศษเพื่อเสริมการสั่งการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยมีประสิทธิภาพด้วย

สำหรับจำนวนผู้ปฏิบัติทางการแพทย์ฉุกเฉินมีจำนวนทั้งสิ้น 159,854 คน แบ่งเป็น แพทย์ 1,593 คน พยาบาล 18,823 คน เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ 2,295 คน พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ 5,618 คน และอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ 127,709 คน

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า โดยปกติมีอัตราการแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ราวร้อยละ 20 แต่ในช่วงเทศกาลจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 โดยในปีนี้คาดว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะลดลง แต่คงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เนื่องจากเรายังไม่มีมาตรการรับมือที่เข้มข้น ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคร่วมแก้ปัญหาต่อไป

อย่างไรก็ตาม แนวทางการลดการสูญเสียที่ดีที่สุด คือ การป้องกัน ซึ่งจากสถิติของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ รองลงมาคือเสียชีวิตขณะนำส่ง และเสียชีวิตในโรงพยาบาล โดยการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุแม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วก็เสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 ดังนั้นวิธีการแก้ไขในเรื่องนี้จึงไม่สามารถแก้ได้โดยใช้วิธีทางการแพทย์ฉุกเฉิน แต่จะต้องแก้ในเชิงป้องกัน 5 ข้อ คือ 1.ผู้ขับขี่จะต้องไม่ขับรถเร็ว 2.ขับรถอย่างมีสติ คือ เมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ โทรไม่ขับ 3.ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้ซ้อนท้ายจะต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง 4.คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และ 5.ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ฝ่าไฟแดง ไม่ขับรถย้อนศร ซึ่งหากทำได้ทั้ง 5 ข้อ จะสามารถลดการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 80

"หากพบผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่ต้องขอความกรุณาอย่าโทรเล่น เพราะทุกวินาทีมีค่าสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน และที่สำคัญอยากให้ผู้ใช้รถใช้ถนนหลีกทางให้รถฉุกเฉินทันทีเมื่อได้ยินเสียงหรือเห็นสัญญาณไฟวับวาบ โดยให้คิดเสมอว่าผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในรถอาจจะเป็นญาติของเรา เพราะหากผู้ป่วยฉุกเฉินถึงโรงพยาบาลเร็วหมายถึงโอกาสรอดชีวิตที่เพิ่มขึ้นด้วย" นพ.อนุชา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ