มท.1 สั่ง 12จ.เตรียมรับมืออุทกภัย-วาตภัย-คลื่นลมแรงช่วง 12-14 เม.ย.

ข่าวทั่วไป Monday April 13, 2015 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย (ท.1) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้น อาจมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรง ส่วนคลื่นลมอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัด แยกเป็น ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ 10 จังหวัดได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา เขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 12 – 14 เมษายน 2558

โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย โดยเฉพาะบริเวณริมชายฝั่งทะเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวประมง อีกทั้งตรวจสอบสิ่งก่อสร้าง ป้ายโฆษณา เขื่อน ฝาย อ่าง และคันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หากอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย ให้พิจารณาแก้ไขโดยด่วน ตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ โดยเฉพาะบริเวณริมถนน เพื่อป้องกันการโค่นล้มกีดขวางช่องทางจราจรและล้มทับรถยนต์ เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ กรณีสถานการณ์รุนแรงได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานการอพยพและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยของ 12 จังหวัดภาคกลาง และภาคใต้ ให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้งและไม่ใช้เครื่องมือสื่อสาร โทรศัพท์มือถือในที่โล่งแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย วาตภัย และคลื่นลมแรง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ