กทม.เพิ่มเรดาร์ระยะไกลเพื่อตรวจจับการเคลื่อนผ่านกลุ่มฝนแม่นยำขึ้น

ข่าวทั่วไป Thursday May 14, 2015 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมสถานีเรดาร์หนองจอก เพื่อเตรียมความพร้อมในการแจ้งเตือนสภาพอากาศและตรวจจับกลุ่มฝนในฤดูฝนนี้ ว่า กทม. ไม่ได้นิ่งนอนใจในการพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม จึงได้นำเรดาร์ระยะไกลซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น มีความทันสมัย และมีศักยภาพในการตรวจจับกลุ่มฝนได้สูงกว่าเรดาร์ตัวเดิมถึง 4 เท่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองการทำงานและจะส่งมอบงานเป็นทางการในวันที่ 21 มิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม กทม. จะไม่หยุดพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมเพื่อให้กรุงเทพมหานครปลอดจากปัญหาน้ำท่วมและประชาชนมีความปลอดภัยเรดาร์ระยะไกลเพิ่มประสิทธิภาพแจ้งเตือนสภาพอากาศและเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน

สำหรับสถานีเรดาร์หนองจอก เป็น 1 ใน 2 สถานีเรดาร์ของกรุงเทพมหานครที่ติดตั้งเพิ่มเติมในปี 2558 ประกอบด้วย สถานีเรดาร์หนองจอก ตั้งอยู่ใกล้ศูนย์พัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก และสถานีเรดาร์หนองแขม ตั้งอยู่บริเวณใกล้ริมคลองบางไผ่ เขตหนองแขม ซึ่งทั้งสองแห่งสามารถตรวจจับกลุ่มฝนในรัศมีหวังผล มีความแม่นยำและละเอียดขึ้นถึงระยะ 240 กิโลเมตร และสามารถตรวจวัดการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนอ่อนและฝนหนักได้ทุกกลุ่มไม่จำกัดจำนวน รวมถึงฝนฟ้าคะนองในรัศมีระยะไกล 480 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และในหลายจังหวัด ตั้งแต่ด้านทิศเหนือบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ทิศตะวันออกบริเวณจังหวัดบุรีรัมย์ ทิศใต้ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และทิศตะวันตกจังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้ การมีเรดาห์ระยะไกลจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้กรุงเทพมหานครสามารถบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้มากขึ้น โดยเมื่อรู้ทิศทางของฝนที่จะเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ จะสามารถระดมกำลังคน อุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ หน่วยปฏิบัติการ BEST ไปลงพื้นที่ได้อย่างตรงจุดในการเร่งระบายน้ำและช่วยเหลือประชาชน รวมถึงการพร่องน้ำและบริหารระดับน้ำในคูคลองให้เหมาะสมกับฝนที่จะมาเชื่อมต่อสัญญาณภาพ 3 สถานีเรดาร์ให้แสดงผลในจอภาพเดียว เพิ่มความละเอียดและแม่นยำขึ้น

ปัจจุบัน กทม. มีเรดาร์แจ้งเตือนสภาพอากาศและตรวจจับกลุ่มฝน รวม 3 แห่ง ได้แก่ 1. สถานีเรดาร์บึงหนองบอน ซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมฝั่งธนบุรี เขตภาษีเจริญ ตั้งแต่ปี 2548-2557 มีรัศมีทำการระยะไกลสุด 120 กิโลเมตร ระยะหวังผล 60 กิโลเมตร จานสายอากาศขนาด 6 ฟุต 2.สถานีเรดาร์หนองจอก และ 3.สถานีเรดาร์หนองแขม ซึ่งทั้งสองแห่งมีรัศมีทำการระยะไกลสุด 480 กิโลเมตร รัศมีระยะหวังผล 240 กิโลเมตร จานสายอากาศมีขนาด 14 ฟุต และมีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถตั้งการทำงานของเครื่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง หรือเลือกช่วงเวลาในการตรวจได้ โดยเรดาร์ทั้ง 3 สถานี ทำหน้าที่ตรวจจับกลุ่มฝนที่เคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ หรือกลุ่มฝนที่ก่อตัวในพื้นที่กรุงเทพฯ จากนั้นจะส่งข้อมูลออนไลน์ไปยังศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กทม.2 ดินแดง ซึ่งจะทำให้ทราบว่ากลุ่มฝนกำลังจะเคลื่อนไปทิศทางใดได้อย่างแม่นยำ โดยข้อมูลจะถูกปรับทุกๆ 5 นาที เพื่อแสดงผลที่เป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ทั้ง 3 สถานีอยู่ระหว่างการเชื่อมต่อระบบเพื่อให้สามารถนำภาพเรดาร์จากสถานีต่างๆ มาแสดงผลรวมกันในจอภาพเดียว เพื่อความแม่นยำและมีความถูกต้องในการติดตามกลุ่มฝนมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ