NGO จี้รัฐบาลยกเลิกแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่จังหวัดกระบี่

ข่าวทั่วไป Monday May 18, 2015 18:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ออกแถลงการณ์คัดค้านแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่จังหวัดกระบี่ขนาดกำลังผลิต 870 เมกะวัตต์ เนื่องจากเห็นว่าจะกลายเป็นวิกฤติครั้งใหม่หลังประสบภัยสึนามิ โดยส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งจากการขนถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในวงกว้างซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวและการเกษตรที่สร้างรายได้จำนวนมหาศาล โดยในปี 2555 มีรายได้ 3.31 แสนล้านบาท

สำหรับผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งจากการขนถ่ายหินนำเข้าจากต่างประเทศ และสารพิษร้ายแรงจำนวนมาก เช่น ปรอท ฝุ่นละอองขนาดเล็ก จากการเผาไหม้ถ่านหินในโรงไฟฟ้า งานวิจัยหลายประเทศบ่งชี้ว่าเกิดผลกระทบรุนแรง เมื่อถูกปล่อยสู่บรรยากาศจะสามารถแพร่กระจาย ไปได้ในรัศมี 15-30 ไมล์ และยิ่งไปกว่านั้น หากระยะเวลาผ่านไปนานขึ้น มลพิษทางอากาศที่เป็น อันตรายสามารถแพร่กระจายไปในระยะทางจาก 100 ถึง 1,000 ไมล์ ระยะทางดังกล่าวจะเกิดขึ้น ครอบคลุมทั้งในพื้นที่อันดามันและพื้นที่รอบข้างอย่างแน่นอน

ขณะที่ฐานอาชีพของคนอันดามันคือการท่องเที่ยวและการเกษตรเป็นหลักซึ่งทั้ง 2 อาชีพล้วนเกี่ยวเนื่องกับการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี หากเราพิจารณาตัวเลขด้านการท่องเที่ยวจากสำนักงานสถิติ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง จะพบว่าในปี 2555 เศรษฐกิจของกลุ.มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ขึ้นอยู่กับภาคการ ท่องเที่ยว และภาคเกษตรกรรมโดยมีขนาดเศรษฐกิจ 3.31 แสนล้านบาท โดยมี รายได้จากการท่องเที่ยว 2.95 แสนล้านบาท สาขาเกษตร 1.11 แสนล้านบาท การท่องเที่ยวของ อันดามันส่วนใหญ่คือการท่องเที่ยวทะเลและชายหาดซึ่งต้องอาศัยความสวยงามของธรรมชาติเป็นหลัก หากพื้นที่การท่องเที่ยวปกคลุมด้วยควันถ่านหินและมลพิษทางน้ำ การท่องเที่ยวก็จะหายนะ รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งอาหาร ทั้งหมดนี้คือการรื้อฐานชีวิตคนอันดามันไปสู่ความทุกข์ยาก

ทั้งนี้ ความเห็นของนักท่องเที่ยวต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจากกระบวนการประเมินผลกระทบ ด้านสุขภาพระดับชุมชน(CHIA) ซึ่งจัดทำที่เกาะลันตา จ.กระบี่จากจำนวนนักท่องเที่ยว 624 คนจากทั้งหมด 37 ประเทศพบว่าร้อยละ 88 มีความเห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อถามว่าหากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วจะกลับมาเที่ยวหรือไม่ พบว่าร้อยละ 85 ตอบว่าจะไม่กลับ มาเที่ยวที่ จ.กระบี่อีก ทั้งนี้ในจำนวนนักท่องเที่ยวที่ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป และอเมริกา จะมีจำนวนวันที่มาเที่ยวแต่ละครั้งยาวนานโดยเฉลี่ย 90 วันต่อการมาเที่ยว 1 ครั้งและ เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวที่ตอบแบบสอบถามจำนวน 624 คนจะมีการใช้จ่ายทั้งหมด 148,072,400 บาท จากข้อมูลดังกล่าวสามารถเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าหากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น หายนะที่จะมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดขึ้นกับฐานการท่องเที่ยวของคนอันดามันโดยตรง

ส่วนทางออกของความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า หากกระทรวงพลังงานยกเลิกมาตรการและข้อจำกัดในการผลิตพลังงานหมุนเวียน ภาคใต้จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อีกจำนวนมากและหาก พิจารณาในระดับโลกพบตัวเลขที่น่าสนใจว่าตั้งแต่ปีพ.ศ.2556 โลกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ได้มากกว่าพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน นิวเคลียร์ อีกทั้งในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกได้หันมาสร้างไฟฟ้าจากพลังงหมุนเวียนกันอย่างจริงจัง ปัญหาของพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องของศักยภาพการผลิตแต่เป็นเรื่องของ การผูกขาดและกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวย

"เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินซึ่งประกอบด้วยภาคีภาคเอกชนและประชาสังคมจังหวัดสตูล ตรัง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และขอเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่โดยทันที และขอให้จริงจังกับการดำเนินการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะได้รับความร่วมมือจากภาคสังคมของจังหวัดอันดามันในการร่วมขับเคลื่อนกับรัฐบาลให้อันดามันเป็นพื้นที่พลังงานสะอาดแห่งแรกๆของโลก" นายอมฤต ศิริจุทาพรกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ในฐานะประธานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าว

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ จะเดินสายจัดกิจกรรมแบคแพ็คเพื่อแสดงพลังและให้ความรู้กับประชาชน โดยเริ่มจากจังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และมาสิ้นสุดที่จังหวัดกระบี่

ขณะที่นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ยืนยันว่า กฟผ.จำเป็นต้องเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(peak) ของภาคใต้อยู่ที่ 2,700 เมกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตจริงในพื้นที่ภาคใต้มีเพียง 2,300 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือต้องนำมาจากภาคกลาง ประกอบกับความความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้เติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี ซึ่งหากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาไฟฟ้าตก-ดับในพื้นที่ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ