ครม.มีมติจัดสรรงบปี 58-59 กว่า 2.6 หมื่นลบ.แก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 2, 2015 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เรื่องการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ไปดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559-2560

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานท้องถิ่นกำกับดูแลพื้นที่ทั่วไปไม่ให้เกิดจุดตัดทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาต(ทางลักผ่าน) เพิ่มขึ้น โดยหากจำเป็นขอให้หน่วยงานท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ ร.ฟ.ท.กำหนด

ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีเส้นทางรถไฟทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 4 พันกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 47 จังหวัด ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีจุดตัดทางรถไฟ 2,517 แห่ง โดยเป็นจุดตัดที่ได้รับอนุญาต 1,933 แห่ง และไม่ได้รับอนุญาต(ทางลักผ่าน) อีก 584 แห่ง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนบ่อยครั้งและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้เร่งดำเนินการแก้ไข โดยคณะกรรมการร่วมพิจารณาการขออนุญาตและการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2558-2560 แบ่งเป็น จุดตัดทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาต(ทางลักผ่าน) จำนวน 584 แห่ง แบ่งแนวทางเป็นระยะเร่งด่วน(ปีงบประมาณ 2558) เร่งติดตั้งป้ายหยุด ป้ายรูปรถไฟ พร้อมจัดทำสัญญาณเตือน ไฟกระพริบตลอดเวลา ทำเนินชะลอความเร็ว และป้ายเตือนบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 584 แห่ง ทั้ง 2 ด้าน ส่วนระยะที่ 2(ปีงบประมาณ 2559) เร่งติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพิ่มสัญญาณจราจร เช่น สัญญาณไฟแดงวาบพร้อมเสียงเตือนบริเวณป้ายหยุดทั้ง 2 ด้าน ซึ่งทำงานด้วยระบบตรวจสอบขบวนรถไฟที่ระยะ 300 เมตรก่อนถึงจุดตัดผ่าน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างที่ดำเนินการระยะเร่งด่วนและระยะที่ 2 ร.ฟ.ท.จะดำเนินการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟเพิ่มเติมอีก 2 แนวทาง คือ การสำรวจจุดตัดทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาต และการติดตั้งป้ายจราจรบริเวณจุดตัดทางรถไฟ มาตรฐานตามคู่มือการติดตั้งป้ายจราจรของกรมทางหลวงชนบท พร้อมทั้งจัดทำเส้นชะลอความเร็ว หรือสัญลักษณ์บนทาง โดย ร.ฟ.ท.จะขอความร่วมมือกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่(ถนน) เป็นผู้ดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยจุดตัดทางรถไฟ

"การแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟทั้งระยะเร่งด่วนและระยะที่ 2 นั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 467 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบ" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

สำหรับจุดตัดทางรถไฟที่ได้รับอนุญาต 775 จุดที่มีอุปกรณ์หรือเครื่องกั้นไม่ได้มาตรฐานนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อความปลอดภัย โดยในปี 2558 จะเร่งดำเนินการ 130 แห่ง และปี 2559 อีก 645 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 2,126 ล้านบาท ส่วนการจัดทำทางข้ามและทางลอดรถไฟในช่วงปี 2558-2560 โดยแบ่งเป็น ปี 2558 จำนวน 6 แห่ง ปี 2559 จำนวน 18 แห่ง และปี 2560 จำนวน 83 แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2.42 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ