นายกฯ สั่งขุดลอกแหล่งน้ำทุกภาคไว้ใช้ช่วงวิกฤตแล้ง-เปิดบ่อบาดาลใช้

ข่าวทั่วไป Tuesday July 7, 2015 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า ได้เน้นย้ำเรื่องของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาภัยแล้ง ที่ผ่านมาสูญเสียเนื้อที่เป็นล้านไร่ ซึ่งล้วนเป็นป่าต้นน้ำส่งผลให้ฝนไม่ตก และส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และประชาชน ดังนั้นรัฐบาลจึงทำทุกอย่างเพื่อดูแล ซึ่งคาดว่าเมื่อฝนมาทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการไปว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถขุดลอกแหล่งน้ำในทุกภาค โดยเฉพาะพื้นที่ใต้อ่างเก็บน้ำ และสั่งการให้ปรับแก้งบประมาณและเร่งดำเนินการ โดยให้มีการจ้างแรงงานในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอบคุณเกษตรกรชาวอีสานที่เลื่อนการปลูกข้าวตามคำแนะนำของรัฐบาล ขณะเดียวกันเกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กำลังปลูกข้าว ซึ่งปริมาณน้ำเท่าใดก็คงปลูกได้เท่านั้น หากเกิดความเสียหายก็ต้องเข้าไปดูแล และที่ผ่านมาก็ขุดบ่อบาดาลไปแล้วกว่า 1,000 บ่อ

ทั้งนี้ มีการประเมินหรือไม่ว่าปริมาณพื้นที่ กทม.จะมีน้ำเหลือใช้เพียง 30 วันเท่านั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ต้องประเมิน จะประเมินทำไม สำหรับแผนรับมือก็ต้องเปิดน้ำบ่อบาดาลใช้ในเขต กทม.และในเขตเมือง ซึ่งขณะนี้ปิดอยู่ก็ต้องขออนุญาต ส่วนต่างจังหวัดเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยตนเองได้สั่งการให้กระทรวงทรัพย์ฯ เจาะบ่อบาดาลอีก 500 บ่อแล้ว แต่ยอมรับว่ามีการนำน้ำไปปลูกพืชหมด ซึ่งอาจจะมีน้ำไม่เพียงพอสำครับการอุปโภคบริโภค เพราะฝนไม่ตก น้ำในเขื่อนมีน้อย

“ไม่ต้องประเมินก็เห็นอยู่ ตาไม่ได้บอด จะให้รอน้ำค้างแบบเดินป่าหรืออย่างไร ผมอ่านหนังสือพิมพ์ก็เห็นว่าชาวสหรัฐฯ เขาเดือดร้อนเหมือนกัน เขาอาบน้ำในขวดเพราะแห้งแล้งเหมือนกัน เขาไม่เห็นจะถามรัฐบาลเลยว่า รัฐบาลประเมินอย่างไรครับ ก็น้ำมันไม่มี ฝนมันไม่ตก จะประเมินอะไรกันนักหนา ไม่ต้องประเมิน ฝนก็ตกเปียก แต่มันยังไม่ตก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการโดยนำปัจจัยที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ การระบายน้ำในเขื่อนเพื่อการอุปโภคบริโภค ผลักดันน้ำเค็ม รักษาสภาพสิ่งแวดล้อม และการทำเกษตรกรรมซึ่งได้ลดปริมาณน้ำจากวันละ 33 ล้านลูกบาศก์เมตรเหลือวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร

"เป็นการใช้ปริมาณน้ำน้อยสุดเพื่อดูแลทุกภาคส่วนให้ดำรงอยู่ได้ก่อนที่ฝนจะตกตามปกติ" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ขณะเดียวกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เร่งดำเนินการเรื่องการเจาะน้ำบาดาลจำนวน 850 บ่อ การทำฝนเทียมเพื่อเติมน้ำในเขื่อน และการรณรงค์ให้ประหยัดน้ำ ซึ่งเป็นมาตรการที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายเดือน ส.ค.58 ที่คาดว่าจะมีฝนตกตามปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ