รมว.ทรัพยากรฯ คาดเจาะน้ำบาดาลช่วยเกษตรกรได้กว่า 1.3 แสนไร่ พร้อมเพิ่มพื้นที่เป้าหมาย

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2015 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยความคืบหน้าการเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วนในขณะนี้ดำเนินการไปได้กว่า 80% แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ แต่หากสถานการณ์ภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคจะให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลระดมกำลังคนและเครื่องจักรเข้าไปดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำน้ำบาดาลมาใช้ให้เพียงพอกับความต้องการ

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กระทรวงกลาโหม และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จัดทำโครงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วน ประจำปี 2558 ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างบางส่วนรวม 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ และจังหวัดราชบุรี โดยคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายพิจารณาจากพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานที่เป็นพื้นที่ดอน เสี่ยงต่อน้ำไปไม่ถึง และเป็นพื้นที่ที่ได้เริ่มปลูกข้าวแล้ว เน้นพื้นที่ปลูกข้าวช่วงอายุ 15-60 วัน(ช่วงที่ต้องการน้ำมาก) และเป็นพื้นที่ที่น้ำบาดาลคุณภาพดี มีอัตราการให้น้ำมากกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาล และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเทอร์ไบน์ จำนวนทั้งสิ้น 511 บ่อ และทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำของบ่อสังเกตการณ์จำนวน 380 บ่อ

โดยขณะนี้มีการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จจำนวน 415 แห่ง หรือ 81.21% จากเป้าหมาย 511 แห่ง ปริมาณน้ำบาดาลที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์จำนวน 178,453 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าของบ่อสังเกตการณ์ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 202 บ่อ หรือ 53.16% จากเป้าหมาย 380 บ่อ ปริมาณน้ำบาดาลที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์จำนวน 30,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งหากดำเนินการตามแผนงานแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้จะสามารถช่วยเหลือพื้นที่เกษตรให้สามารถสูบน้ำบาดาลมาใช้ได้ 350,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากน้ำบาดาลไม่น้อยกว่า 130,000 ไร่ หรือไม่น้อยกว่า 4,000 ครัวเรือน โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 179.38 ล้านบาท

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หากสถานการณ์ภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น หรือส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลพร้อมระดมสรรพกำลังเครื่องจักรและบุคลากรเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยเจาะบ่อน้ำบาดาลที่ดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 65 หน่วย สามารถระดมหน่วยเจาะบ่อน้ำบาดาลเพิ่มขึ้นได้อีก 15 หน่วย รวมเป็น 80 หน่วย ส่วนหน่วยติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ของบ่อสังเกตการณ์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในพื้นที่ 40 หน่วย สามารถระดมหน่วยติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้อีก 10 หน่วย รวมเป็น 50 หน่วย นอกจากนี้ ยังมีรถปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล 18 คัน สามารถรับน้ำจากบ่อสังเกตการณ์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 1,069 บ่อ หรือจากจุดจ่ายน้ำถาวรทั่วประเทศ จำนวน 87 แห่ง บรรทุกน้ำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากต่อเนื่อง 5 ปี จำนวน 2,214 หมู่บ้าน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีแนวทางให้ความช่วยเหลือโดยมีการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ในปีงบประมาณ พ.ศ.2557-2559 รวมจำนวนทั้งสิ้น 202 แห่ง (ปรับปรุงบ่อสังเกตการณ์เป็นบ่อผลิต 191 แห่ง และบ่อน้ำบาดาลที่เป็นจุดจ่ายน้ำถาวร 11 แห่ง) นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีแผนดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยแล้ง เสนอต่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 1,173 แห่ง ซึ่งได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับโครงการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลแล้วพบว่า มีความ ซ้ำซ้อนกัน จำนวน 201 แห่ง และไม่มีศักยภาพน้ำบาดาล จำนวน 61 แห่ง ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลได้ จำนวน 911 แห่ง ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 1,101 แห่ง จะเป็นหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำที่จะดำเนินการสำรวจเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซากต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ