กรมชลฯ เผยปริมาณน้ำต้นทุนยังน้อยแม้มีฝนตก ย้ำต้องสำรองไว้ใช้ต้นฝนปีหน้า

ข่าวทั่วไป Wednesday July 29, 2015 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ระบุว่า แม้ว่าจะมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้พอมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำบ้างแล้วก็ตาม แต่ปริมาณน้ำในอ่างฯส่วนใหญ่ ก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งจะเน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดก่อนจะหมดฝนของปีนี้ ส่วนในพื้นที่รับน้ำฝนตามธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง และแก้มลิงต่างๆ นั้น กรมชลประทาน จะเร่งขุดลอกให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามแผนทั้ง 27 โครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป เก็บตุนน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งหน้า

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (29 ก.ค.58) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 3,954 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 154 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,176 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 326 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 94 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 4 เขื่อน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 606 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ(28 ก.ค.) รวมกันทั้งสิ้น 54.19 ล้านลูกบาศก์เมตร

อนึ่ง การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันยังคงการใช้น้ำจากเขื่อนหลัก 4 แห่ง รวมกันในอัตราประมาณวันละ 19 ล้านลูกบาศก์เมตร เน้นเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำ โดยบางส่วนจะนำไปช่วยเหลือพื้นที่ข้าวตั้งท้องออกรวง ซึ่งกรมชลประทาน จะพยายามใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่เข้าไปเสริมการช่วยเหลือเกษตรกรให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ขอความมือจากทุกภาคส่วน ร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ