ศาลปกครองหนุนตั้งศาลสิ่งแวดล้อมพิพากษาคดีทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง

ข่าวทั่วไป Sunday August 23, 2015 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มติที่ประชุมสัมมนาตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ในเรื่อง “การพัฒนาศาลปกครองในอนาคต"และในส่วนที่เกี่ยวกับ“การจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม" โดยได้มีการสัมมนาในประเด็นสำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) การพัฒนากระบวนพิจารณาคดี และการบังคับตามคำพิพากษา (2) การพัฒนาการบริหารจัดการคดีและคุณภาพของคำพิพากษาและคำสั่ง และ (3) การพัฒนาองค์กรศาลและตุลาการ จริยธรรม วินัย ความรับผิดและระบบการประเมินตุลาการ ซึ่งตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศที่เข้าร่วมสัมมนาได้ระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองในทุกมิติที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของศาลปกครองโดยมีเป้าหมายที่จะให้มีการพัฒนาศาลปกครองเพื่อนำไปสู่การอำนวยความยุติธรรมทางปกครองที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ระบบบริหารราชการแผ่นดินและการบริหารงานภาครัฐและต่อสังคมประเทศชาติ

อนึ่ง ตามที่ปรากฏว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เห็นชอบให้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง และเป็นศาลชำนัญพิเศษในศาลยุติธรรมนั้น คณะตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศได้พิจารณาเห็นว่า เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการ พัฒนาประเทศและการสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน ศาลปกครองจึงสนับสนุนและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปในด้านดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนแนวคิดให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม โดยเป็นศาลที่จะสามารถบูรณาการการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งในทางคดีอาญาและคดีแพ่งไปพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการทำให้เอกชนผู้กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้ก่อให้เกิดความเสียหาย จะต้องรับผิดชดใช้เยียวยาความเสียหายในทางแพ่ง และได้รับโทษในกรณีที่เป็นความผิดอาญา ไปในคราวเดียวกัน

อย่างไรก็ดี หลักคิดและระบบกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องเป็นผู้ให้หลักประกันให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการปกป้องรักษา คุ้มครองดูแล และส่งเสริมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน รัฐจึงมีหน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบตามบทบัญญัติของกฎหมายจำนวนมากที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว กฎหมายว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จึงล้วนแต่เป็นกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายปกครองทั้งสิ้น การพิจารณาพิพากษา ข้อพิพาทในส่วนดังกล่าวอันเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของรัฐหรือฝ่ายปกครอง จึงเป็นข้อพิพาททางปกครองโดยแท้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครอง อันมิใช่องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญอย่างเดียวกับข้อพิพาทในทางอาญาและทางแพ่งซึ่งที่ผ่านมาศาลปกครองก็ได้พิจารณาพิพากษาคดีปกครองที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้สร้างสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรและยังคงมีการพัฒนาองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญมาอย่างต่อเนื่อง และได้ปรากฏผลสำเร็จที่เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาแล้วหลายคดี รวมทั้งการวางหลักในการใช้อำนาจหรือการดำเนินการของฝ่ายปกครองให้เป็นไปโดยถูกต้องเหมาะสม

ดังนั้น ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศ จึงสนับสนุนอย่างเต็มที่ที่จะให้มีการแก้ไขเยียวยาข้อพิพาทที่เป็นคดีสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศาลยุติธรรมหรือศาลชำนัญพิเศษที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งจะเป็นผู้บูรณาการการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมในทางอาญาและทางแพ่งกับศาลปกครองซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมในทางปกครองให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ