กทม.จัดระเบียบผู้ค้าริมคลองโอ่งอ่าง-สะพานเหล็ก ให้ผู้บุกรุกรื้อถอนภายใน 15 วัน

ข่าวทั่วไป Thursday September 24, 2015 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกคลองโอ่งอ่าง ที่มี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธาน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน เห็นชอบให้นำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 พ.ศ.2502 มาบังคับใช้ เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกคลองโอ่งอ่างซึ่งเป็นคลองที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว
"ที่ประชุมฯ เห็นชอบเสนอใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 พ.ศ.2502 ให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง รื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างออกไปให้พ้นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างไม่ดำเนินการรื้อถอน ในฐานะผู้ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะจัดการรื้อถอน แล้วดำเนินการขายทรัพย์ที่รื้อถอนหรือที่อยู่ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นตามกฎหมายต่อไป" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้บริเวณคลองโอ่งอ่างเป็นคลองที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ปัจจุบันมีการปลูกสร้างโดยการทำเสาและคานเหล็กค้ำยันเป็นรากฐานของอาคารหรือสะพานเหล็กอย่างถาวร ตั้งอยู่บนคานทับหลังเขื่อน ค.ส.ล. ทำให้เขื่อนได้รับความเสียหาย กีดขวางทางระบายน้ำ ทำให้น้ำไหลระบายไม่สะดวก รวมทั้งมีการค้าขายสินค้า อาหาร ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงในคลอง ทำให้คลองสกปรกและน้ำเน่าเสีย เกิดปริมาณขยะตกค้าง เป็นสาเหตุให้ประชาชนร้องเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันตลาดริมคลองโอ่งอ่างได้ทำลายโบราณสถานและผิด พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จากการตรวจสอบพบว่ามีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่บริเวณสะพานดำรงค์สถิตถึงสะพานภานุพันธ์ จำนวน 363 ราย บริเวณสะพานภานุพันธ์ถึงสะพานหัน จำนวน 74 ราย และบริเวณสะพานหันถึงสะพานบพิตรพิมุข จำนวน 63 ราย รวมผู้บุกรุกทั้งสิ้น 500 ราย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการย้ายออกไปตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.58

เนื่องจากรัฐบาลและ กทม.มีนโยบายการจัดดระเบียบปรับปรุงภูมิทัศน์และการพัฒนาสภาพแวดล้อมโดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์บริเวณคลองโอ่งอ่าง เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนาธรรม เป็นโบราณสถานที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะร่วมกันอย่างสมบูรณ์และยั่งยืนถาวร สอดคล้องกับนโยบายการสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครแห่งความสุข


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ