นายกฯ สั่งศึกษาปรับแผนเพาะปลูก หลังคาดภัยแล้งกระทบยาวถึงปีหน้า

ข่าวทั่วไป Tuesday October 6, 2015 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งว่า วันนี้รัฐบาลต้องหามาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการเร่งด่วนในการดูแลประชาชนและเกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และต้องดูว่าจะมีการเพิ่มพื้นที่โซนนิ่งอย่างไร รัฐอาจจะต้องดูแลช่วยเหลือต้นทุนในการประกอบอาชีพที่เกษตรกรจะต้องมีการปลูกพืชใหม่ เบื้องต้นให้เป็นความสมัครใจ โดยรัฐจะส่งเสริมเกษตรกรในการเปลี่ยนพฤติกรรมในการปลูกพืช

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อดูปริมาณน้ำในขณะนี้ ยังมีพื้นที่แล้งเป็นจำนวนมาก ปริมาณน้ำที่เข้ามาต่ำกว่าปีที่ผ่านมาถึงครึ่งหนึ่ง คือ จาก 6,000 ลูกบาศก์เมตร เหลือเพียง 3,000 ลูกบาศก์เมตร และจากการประเมินหลังจากเดือนเมษายนปีหน้าจะเกิดปัญหาภัยแล้ง เพราะน้ำต้นทุนในเขื่อนมีน้อย แม้ฝนจะตกลงมาก็ยังไม่พียงพอ เว้นแต่หากมีพายุเข้ามาทำให้ฝนตกเหนือเขื่อนก็จะทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น

โดยขณะนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ภายใน 30 วันว่ามีความต้องการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชแทนการปลูกข้าวอย่างไร ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่ามีบางพื้นที่ไม่สามารถส่งน้ำได้แน่นอน กับบางพื้นที่ยังสามารถเพาะปลูกได้แต่ใช้น้ำมากไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลพยายามจะหาแนวทางในการส่งเสริมการผลัดเปลี่ยนอาชีพ เช่น การทำอาชีพเสริมหรือเลี้ยงสัตว์ในช่วงเดือน พ.ย.58 ถึงเดือน เม.ย.59 เพื่อให้ผ่านพ้นฤดูแล้งปีหน้า

"ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรให้รับฟังภาครัฐ เพราะสถานการณ์ไม่ปกติ เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพอากาศ ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ เพราะหากไม่เชื่อฟังรัฐและเกิดความเสียหายก็ไม่สามารถชดเชยหรือเยียวยาได้ทั้งหมด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคใต้นั้น ตนเองได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ซึ่งสถานการณ์ปีนี้รุนแรงกว่าทุกปี และให้กระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังต้นทางว่ามีการแก้ไขปัญหาอย่างไร พร้อมกันนี้สั่งให้ทุกจังหวัดระดมรถน้ำฉีดเป็นละอองน้ำเพื่อให้อากาศดีขึ้นและประชาชนหายใจสะดวกขึ้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากประเทศไทย แม้ที่ผ่านมาจะได้ประชุมหารือกันในระดับอาเซียนแล้วแต่ก็ยังเกิดปัญหาขึ้นอีกจึงต้องหารือกับประเทศต้นทาง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาป่า เพราะหากเผาป่าหมดไปก็จะเกิดปัญหาตามมา ซึ่งแต่ละประเทศก็ต้องแก้ไขปัญหาด้วยข้อกฎหมายและประชาชนต้องช่วยกัน ทั้งนี้หากไม่มีการแก้ไขเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาที่ดินทำกินก็จะทำให้เกิดการรุกพื้นที่ป่าและมีการเผาป่า ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันตามมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ