รมว.เกษตรฯเกาะติดสถานการณ์ภัยแล้ง-ติดตามปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

ข่าวทั่วไป Sunday April 10, 2016 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ภัยแล้งและการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี และมอบเงินโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/59 (มาตรการที่ 4) จำนวน 143 โครงการ วงเงิน 39.28 ล้านบาท แก่ผู้แทนเกษตรกรจำนวน 11 คน พร้อมตรวจเยี่ยมจุดแจกน้ำอุปโภคบริโภคช่วยเหลือเกษตรกรและเยี่ยมชมแปลงปลูกพืชใช้น้ำน้อยของเกษตรกร

สถานการณ์น้ำและการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาภัยแล้งและการเติมน้ำลงในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในขณะนี้ว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีความจุประมาณ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งข้อมูล ณ. วันที่ 9 เมษายน 2559 มีน้ำใช้การได้ประมาณ 290 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 30% ซึ่งก็ต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะปัจจุบันเขื่อนป่าสักฯมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำพระเจ้าพระยา โดยสามารถส่งน้ำเข้ามาช่วยเหลือการอุปโภค-บริโภคในชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีและกรุงเทพมหานคร อีกทั้งสามารถนำน้ำจากเขื่อนป่าสักฯมาช่วยในการรักษาระบบนิเวศน์ผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดจนส่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรม การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้อย่างทันท่วงที มากกว่าที่จะรอน้ำที่มาจากแหล่งน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่ทางภาคเหนือ อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ เป็นต้น ซึ่งจะใช้เวลาในการเดินทางของน้ำมากกว่าการนำน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาใช้

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสภาวะฝนทิ้งช่วงและวิกฤติภัยแล้งที่รุนแรง ยังได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรร่วมกับกรมชลประทานใช้พื้นที่โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นพื้นที่ในการปฏิบัติงานภายใต้ “โครงการบริหารจัดการน้ำแบบครบวัฏจักรน้ำพื้นที่โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" หรือ R-Square Project เป็นการร่วมมือบริหารจัดการน้ำจากชันบรรยากาศสู่น้ำท่าผิวดิน โดยนำร่องที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นเขื่อนแรก กำหนดให้ดำเนินการระหว่างปี 2559 - 2561

โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำของชลประทาน ตลอดจนสำรวจและประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยใช้การสำรวจระยะไกล เช่น สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ประสบภัยแล้งในเขตพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งแผนในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ภาคกลางที่เป็นแหล่งปลูกข้าวแหล่งใหญ่ของประเทศ และการสำรองน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำหลักที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ภาคกลาง ตลอดจนการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ การผลักดันน้ำเค็ม การเกษตรกรรม การท่องเที่ยวและการอุตสาหกรรม

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ช่วงสถานการณ์ภัยแล้งที่เหลืออยู่ได้กำชับและเร่งรัดทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลือประชาชน และเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการของภาครัฐทั้ง 17 มาตรการ เป็นของกระทรวงเกษตร 8 มาตรการ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบภัยแล้งได้ทันสถานการณ์ ส่วนในบางพื้นที่ที่พบว่ามีปริมาณฝนตกลงมาขณะนี้นั้นเป็นฝนเพียงระยะสั้นๆ หากเกษตรกรลงมือปลูกอาจได้รับผลกระทบได้ โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือช่วงหลังสงกรานต์นี้เพื่อประเมินสภาพอากาศ โดยอ้างอิงข้อมูลจากในและต่างประเทศเพื่อวิเคราะห์ปริมาณฝนและช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูฝนปกติให้มีความชัดเจน และแม่นยำที่สุด ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อมูลความชัดเจนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนจะประกาศเริ่มต้นฤดูเพาะปลูกของเกษตรกร แม้ว่าจากข้อมูลเบื้องต้นจะพบว่าปรากฏการณ์เอลนิโญ่จะคลายตัวเข้าสู่ภาวะเป็นกลาง ที่น่าจะส่งผลให้ปริมาณฝนตกมากขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ