ศาลปกครอง ยกฟ้องคดีขอเพิกถอนใบอนุญาตทำเหมืองแร่ทองคำของ"ทุ่งคำ"

ข่าวทั่วไป Wednesday December 28, 2016 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายสราวุธ พรมโสภา กับพวกรวม 598 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านนาหนองบง บ้านกกสะทอน บ้านภูทับฟ้า บ้านห้วยผุก บ้านโนนผาพุงพัฒนา และบ้านแก่งหิน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ยื่นฟ้อง รมว.อุตสาหกรรม, อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบอุตสาหกรรมของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย เนื่องจากใช้ดุลยพินิจในการออกใบอนุญาตดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพ ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียสำหรับซื้อน้ำในการอุปโภคและบริโภค และก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารพิษในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จนไม่อาจใช้ประโยชน์ในห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติได้ตามปกติ

คดีนี้ผู้ฟ้องทั้ง 598 คนบรรยายฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ รมว.อุตสาหกรรม ได้ออกประทานบัตรรวม 5 ฉบับ และการที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ออกใบอนุญาตประกอบโลหกรรม และต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมดังกล่าวให้แก่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ประกอบกิจการเหมืองแร่ในลักษณะที่ก่อให้เกิดมลพิษส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติรับรองไว้ และการที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเหมืองแร่และประกอบโลหกรรมได้ประกอบกิจการในลักษณะที่ก่อให้เกิดมลพิษส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต และขัดต่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 แต่ รมว.อุตสาหกรรม และ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุม ดูแล การประกอบกิจการเหมืองแร่และประกอบโลหกรรมกลับเพิกเฉย ไม่ดำเนินการเพิกถอนประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประทานบัตรพิพาททั้ง 5 ฉบับดังกล่าว รวมทั้งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรม และการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมดังกล่าวของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษาโดยสรุปไว้ 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก การที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำบนบกในท้องที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดเลย ตามคำขอประทานบัตรที่ 62-66/2538 ลงวันที่ 28 กันยายน 2538 เป็นการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองบนบกไม่เกินคำขอละสามร้อยไร่ตามมาตรา 44 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 เมื่อทรัพยากรธรณีจังหวัดเลยได้รับคำขอที่ 62-66/2538 แล้ว จึงได้มีประกาศกรมทรัพยากรธรณี เรื่อง ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 ประกาศการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ให้ทราบโดยทั่วกัน ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 20 วัน นับแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่ปิดประกาศฉบับดังกล่าว ไม่มีบุคคลใดร้องคัดค้านคำขอประทานบัตรของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในท้องที่หมู่ที่ 1 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จึงได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบคำขอประทานบัตรทั้ง 6 ฉบับ ตามมาตรา 46 ประกอบกับมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ในขณะนั้น โดยปรากฏตามหนังสือ ที่ วว 0804/17163 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2541 ที่มีถึงอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโครงการเหมืองแร่ ได้มีมติเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของบริษัท ทุ่งคำ จำกัดแล้ว ต่อมาอธิบดีกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำตามคำขอประทานบัตรที่ 63-65/2538 และอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ตามคำขอประทานบัตรที่ 62-64/2538 มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี ส่วนการเข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีมติอนุมัติให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามคำขอประทานบัตรที่ 64.66/2538 ได้เป็นระยะเวลา 10 ปี กรณีจึงถือได้ว่า รมว.อุตสาหกรรม ได้พิจารณาคำขอประทานบัตรที่ 62-66/2538 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ดังนั้นการที่ รมว.อุตสาหกรรม ออกประทานบัตรทั้ง 5 ฉบับให้กับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ส่วนกรณีการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้แก่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 122 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 เมื่อไม่ปรากฏเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการอื่นอีก ดังนั้นการที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ออกใบอนุญาตประกอบโลหกรรม และต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมดังกล่าวให้แก่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่า รมว.อุตสาหกรรม และ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบในการพิจารณาออกประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้แก่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จึงไม่อาจรับฟังได้

ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นวิธีการที่สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่คุ้มค่านั้น เห็นว่า การดำเนินการของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นการทำเหมืองโดยวิธีเหมืองหาบ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลจะต้องมีแผนการดำเนินการเพื่อปรับภูมิทัศน์บริเวณเหมืองแร่ ภายหลังสิ้นสุดการทำเหมืองแร่ให้กลับคืนสู่สถานะเดิมหรือใกล้เคียงสถานะเดิมมากที่สุด อีกทั้งบริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีภาระผูกพันที่จะต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามแผนงานที่ได้เสนอไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นปัญหาที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างจึงเป็นเรื่องที่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขไว้ล่วงหน้าแล้ว ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน

ประเด็นที่สอง สภาพบริเวณเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และพื้นที่โดยรอบภายหลังเปิดการทำเหมืองแร่ทองคำ เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณไซยาไนด์และสารหนูปะปนอยู่ค่อนข้างสูง อันเป็นสาเหตุให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การแพร่กระจายตัวและสาเหตุของการปนเปื้อนโลหะหนัก รวมทั้งประเมินการปนเปื้อนของโลหะหนักในเขตพื้นที่เหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งผลการศึกษาพบว่า มีการกระจายของสารหนูในดินและตะกอนท้องน้ำครอบคลุมทั้งพื้นที่ที่ศึกษา แสดงให้เห็นว่า สารหนูมีค่าภูมิหลังในพื้นที่ค่อนข้างสูง ส่วนไซยาไนด์พบว่ามีการกระจายตัวหลายจุดในน้ำผิวดินในเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน แต่จะมีปริมาณลดลงอย่างชัดเจนในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง และไม่พบการกระจายตัวลงสู่น้ำใต้ดินยกเว้นพื้นที่ภายในเหมือง บ่งชี้ว่าสารไซยาไนด์อาจถูกชะล้างจากหลายพื้นที่ลงสู่ลำน้ำในช่วงฤดูฝน ไม่ได้รั่วไหลออกมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งผลการตรวจสอบของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมสอดคล้องกับผลการตรวจสอบของกลุ่มกำกับและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2 สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำบริเวณเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด หลังจากเปิดเหมืองแล้ว เปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ.2553-2556 พบว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน พื้นที่บริเวณดังกล่าวจะมีปริมาณสารไซยาไนด์สูงเกินมาตรฐานมากกว่าในช่วงอื่นๆ

"เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกประทานบัตรที่ 26971/15558 ประทานบัตรที่ 26972/15559 ประทานบัตรที่ 26968/25574 ประทานบัตรที่ 26969/25575 และประทานบัตรที่ 26970/15576 และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ที่ 1/2552 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2552 และต่ออายุใบอนุญาตประกอบ โลหกรรมดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการควบคุมการประกอบกิจการเหมืองแร่และการประกอบโลหกรรมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หรือเกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืชหรือทรัพย์สินแล้ว ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่เพิกถอนประทานบัตรทั้งห้าฉบับดังกล่าว และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรมดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง" คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ