สาธารณสุข ยังคงมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกเข้มข้นและต่อเนื่อง เหตุยังมีความเสี่ยงต่อการระบาด

ข่าวทั่วไป Tuesday February 7, 2017 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปี 60 กรมควบคุมโรค ได้สั่งการผ่านการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) ให้หน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรคทุกแห่ง เร่งดำเนินการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือโรคไข้หวัดนกในพื้นที่อย่างเข้มข้น ตามนโยบายของนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ที่ให้มีการดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้จะไม่พบโรคนี้ในประเทศมานานหลายปีแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่โรคนี้อาจกลับมาระบาดได้อีก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ตามแนวชายแดน

จากข้อมูลสถานการณ์โรคไข้หวัดนกขององค์การอนามัยโลก (ข้อมูลตั้งแต่ ม.ค. 2546 -16 ม.ค 2560) พบผู้ป่วยยืนยันจาก 16 ประเทศทั่วโลก จำนวน 856 ราย เสียชีวิต 452 ราย ขณะที่สายพันธุ์ H7N9 มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2556-19 ม.ค. 2560 จำนวน 918 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศจีนและฮ่องกง จำนวน 109 ราย ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อในสัตว์องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ได้มีการรายงานโดยตลอดทั้งปี 2559 พบการติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก พบเชื้อไข้หวัดนกทั้งหมด 11 สายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่มีรายงานการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในคน ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมาได้มีรายงานพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยจึงยังมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนก เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์แนวชายแดน การเคลื่อนย้ายไก่พื้นเมือง ไก่ชน และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น จากการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาทและเตรียมการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้น โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการร่วมกับกรมปศุสัตว์ เน้นการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับในพื้นที่ เพื่อดูแลความปลอดภัยและส่งเสริมความตระหนักในการป้องกันตนเองของประชาชน

นพ.เจษฎา กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนป้องกันโรคไข้หวัดนก โดยเน้นย้ำไม่ควรนำมาสัตว์ปีกที่ป่วยหรือป่วยตายมารับประทาน หากพบซากสัตว์ปีกให้แจ้ง อสม.ทันที และหากมีสัตว์ปีกตายผิดปกติ ให้รายงานเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทราบทันที เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโดยเร็วที่สุด และทำลายซากสัตว์ปีกอย่างถูกวิธี ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค ควรระมัดระวังขณะชำแหละ และต้องปรุงสุกก่อนรับประทาน

สำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศ ขณะนี้ทางองค์การอนามัยโลก ไม่ได้ห้ามการเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด แต่ขอให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีก ไม่ไปฟาร์มสัตว์ปีกหรือตลาดสดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต สำหรับประชาชนทั่วไปขอให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ ทั้งก่อนและหลังปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังจากดูแลสัตว์หรือหลังการดูแลผู้ป่วย ปิดปากและจมูกด้วยหน้ากากป้องกันโรค ผ้าเช็ดหน้าหรือแขนเสื้อ หากไปตลาดสด ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีชีวิต รวมทั้งอุปกรณ์ที่บรรจุสัตว์ หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกให้สวมหน้ากากป้องกันโรค แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้สั่งการไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรค(สคร.) ทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เร่งดำเนินการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้น โดยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีการระบาดของโรคไข้หวัดนกระดับจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น และพื้นที่เลี้ยงไก่ชนจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ