ไทยเข้าร่วมภาคี SIOFA เอื้อทำประมงถูกกม.ในพื้นที่ตอนใต้มหาสมุทรอินเดีย มีผล 23 พ.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Tuesday April 25, 2017 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อ 21 เม.ย.60 ที่ผ่านมาอัครราชทูต (ฝ่ายการเกษตร) พร้อมด้วยผู้แทนถาวรประเทศไทยประจำเอฟ เอ โอ ได้เข้ายื่นภาคยนุวัติสารของประเทศไทย เพื่อเข้าเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยการทำประมงในพื้นที่ตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย หรือ ซิโอฟ่า (South India Ocean Fisheries Agreement – SIOFA) ต่อที่ปรึกษากฎหมายของเอฟ เอ โอ ณ สำนักงานใหญ่ เอฟ เอ โอ กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป

"เมื่อไทยเข้าร่วมเป็นภาคีฯ แล้วนอกจากกองเรือประมงนอกน่านน้ำไทยสามารถเข้าไปทำการประมงบริเวณพื้นท้องน้ำสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย และมีโอกาสใช้ทรัพยากรประมงประเภทอื่นๆ อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ"

ปัจจุบันมีกองเรือประมงนอกน่านน้ำไทยเข้าไปทำการประมงในมหาสมุทรอินเดียจำนวนทั้งสิ้น 14 ลำ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในการดูแลรับผิดชอบของ SIOFA ที่ส่วนใหญ่เป็นเรืออวนลากไม่ได้ทำการประมงทูน่า ขณะเดียวกันยังได้มีโอกาสเข้าร่วมพิจารณากำหนดระเบียบปฏิบัติ รวมถึงรับทราบมาตรการในการบริหารจัดการประมงของ SIOFA ด้วย เพื่อนำมาแจ้งชาวประมงได้ทราบและปฏิบัติตาม ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เรือประมงไทยไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยูอีกด้วย

“พื้นที่มหาสมุทรอินเดียเป็นแหล่งทรัพยากรประมงที่มีศักยภาพของกองเรือประมงนอกน่านน้ำไทย มีทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์และอยู่ใกล้ประเทศไทย ที่ผ่านมามีกองเรือประมงไทยเข้าไปทำการประมงในทะเลหลวงดังกล่าว ดังนั้น การเข้าร่วมเป็นภาคี SIOFA จะทำให้กองเรือประมงไทยสามารถทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย และสร้างโอกาสการทำประมงนอกน่านน้ำตามมาตรฐานสากลของกองเรือประมงไทยที่สามารถพัฒนาศักยภาพได้อีกมาก ซึ่งเรือประมงไทยที่จะเข้าไปทำประมงในพื้นที่ภายใต้ความตกลงฯ จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามมาตรการอนุรักษ์และการจัดการที่กำหนด" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

สำหรับ SIOFA เป็นความตกลงระหว่างประเทศ ในการจัดการด้านการประมงระดับภูมิภาคที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงจำพวกอื่นๆ นอกเหนือจากปลาทูน่า และปลาโอ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรีย หมู่เกาะคุก สหภาพยุโรป สาธารณรัฐฝรั่งเศส ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐมอริเชียส และสาธารณรัฐเซเซลล์ ซึ่งพันธกรณีตามความตกลงฯ จะก่อให้เกิดความร่วมมือกันในกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อร่วมพิจารณากำหนดระเบียบปฏิบัติ ระเบียบการเงิน มาตรการบริหาร การจัดการ การอนุรักษ์ และการใช้ทรัพยากรจำพวกอื่นๆ อย่างสมเหตุสมผลให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการกำหนดโควตาการจับ และกำหนดเครื่องมือประมงสำหรับทำการประมงบริเวณพื้นท้องน้ำ โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการทำประมงพื้นท้องน้ำทั่วทั้งพื้นที่ภายใต้ข้อตกลง SIOFA เพื่อให้มั่นใจว่าการทำประมงสำหรับพื้นที่ภายใต้ข้อตกลงเป็นไปอย่างยั่งยืน ตามหลักการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลฯ และกฎหมายระหว่างประเทศ


แท็ก อินเดีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ