นายกฯ ลงพื้นที่ตรวจสถานีสูบน้ำพระโขนง มอบกทม.สร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่ม-ศึกษาแนวทางขยายเมือง

ข่าวทั่วไป Monday May 29, 2017 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางตรวจเยี่ยมและติดตามแนวทางการระบายน้ำ แผนบริหารจัดการน้ำ ระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง เขตคลองเตย โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมผู้บริหาร กทม. และสำนักการระบายน้ำ ให้การต้อนรับ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

โดยหลังรับฟังบรรยายสรุปแผนบริหารจัดการน้ำของ กทม.แล้ว นายกรัฐมนตรี ได้พบปะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนชุมชนเกาะกลาง ต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง รักษาสิ่งแวดล้อม คลองพระโขนง ซึ่งเป็นชุมชนขนาดเล็กในเขตคลองเตย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ชื่มชมประชาชนในชุมชนเกาะกลางว่าเป็นชุมชนที่เสียสละ และจะสั่งการให้กทม.จัดสร้างโรงสูบน้ำในอีกหลายพื้นที่โดยมอบหมายให้วางแผนโครงการ พร้อมเสนอขออนุมัติงบประมาณที่คาดว่าต้องใช้ราว 50 ล้านบาท เพื่อเร่งระบายน้ำ

"อยากให้คนไทยทุกคนเข้าใจว่ารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาที่รากเหง้า และประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วม และต้องคิดใหม่ว่าวิธีแก้ปัญหาเดิมถูกจุดหรือไม่ และต้องใช้งบประมาณ และเวลาในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขยะที่มักอุดตันทางระบายน้ำจนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมระบุว่า เข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ กทม.ทุกคนเมื่อมีปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะตกเป็นจำเลยทุกครั้ง ทั้งที่เป็นเพียงจังหวัดเดียวที่ต้องรับผิดชอบ ขณะที่นายกรัฐมนตรีกลับตกเป็นจำเลยทุกเรื่องเพราะดูแลทุกจังหวัด

จากนั้น นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ซอยลาซาล-แบริ่ง ถนนสุขุมวิท เพื่อติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ต้องระวังเป็นพิเศษและจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำเมื่อฝนตกหนัก โดยก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาถึงมีฝนตกลงมาอย่างหนัก และได้หยุดตกพอดีในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง โดยเจ้าหน้าที่ กทม.ได้รายงานแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณจุดนี้ว่า ได้วางท่อระบายน้ำ รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม 16 ตัว เพื่อสูบน้ำลงคลองสำโรง ขณะที่กรมทางหลวงเร่งระบายน้ำบนถนนศรีนครินทร์ ซึ่งในระยะกลางจะมีการขยายท่อระบายน้ำลึก 6 เมตร และติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากแบริ่งลงคลองบางนา โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้เร่งดำเนินการทันที เพื่อให้ทันต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หากติดขัดเรื่องงบประมาณให้แจ้งไปยัง กทม.

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กทม. และขอให้ทำงานด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอันตรายที่เกิดจากน้ำในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เช่น ไฟฟ้ารั่ว และพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งขอให้อดทนในการทำหน้าที่เพื่อประชาชนด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ได้มอบหมายให้ กทม.ทำแผนสรุปการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบเพื่อจะนำไปเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาน้ำของประเทศ ซึ่งเบื้องต้น กทม.ได้ของบประมาณ 1 พันล้านบาท สำหรับจัดทำสถานีสูบน้ำคลองเปรมประชากร ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณให้ตามแผนงานที่จะออกมาในรูปแบบใหม่

ขณะเดียว รู้สึกเห็นใจประชาชนที่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมและการจราจรที่ติดขัด ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของ กทม.แต่รัฐบาลก็ได้เร่งทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในอดีต โดยเฉพาะการระบายน้ำที่ดีขึ้น แต่อยากขอความร่วมมือประชาชนอย่ามักง่าย ทิ้งขยะลงในคูคลอง โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ เช่น โต๊ะ เตียง ที่นอน โซฟา ซึ่งได้มีแนวคิดให้ กทม.จัดหารถบรรทุกขนาดใหญ่ สำหรับเก็บขยะเหล่านี้ เพื่อนำไปซ่อมแซมและมอบให้กับคนจนหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อไป

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายในขณะนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะ กทม.ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการจัดทำผังเมืองใหม่ได้ รวมทั้งการย้ายเมืองก็ทำได้ยากเช่นเดียวกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องวางแนวทางการขยายเมืองเพื่อลดความแออัดและการก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำที่เป็นต้นเหตุของปัญหา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยได้บูรณาการการทำงานอย่างเต็มที่โดยเฉพาะทหาร ดังนั้นหากจะเกลียดทหารก็ขอให้เกลียดตนเองคนเดียวก็พอ

สำหรับสถานีสูบน้ำพระโขนงเป็นสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ปลายคลองพระโขนง มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำในคลองประเวศ และคลองพระโขนง ซึ่งเป็นคลองสำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก รวมถึงป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว มีกำลังการสูบน้ำอยู่ที่ 173 ลูกบาศก์เมตร/ต่อวินาที ที่สำคัญเป็นจุดรับน้ำจากอุโมงค์ยักษ์พระราม 9 ซึ่งอุโมงค์พระราม 9 รองรับปริมาณน้ำในพื้นที่คลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ซึ่งเป็นน้ำตอนบนและตะวันออกของ กทม.ครอบคลุมพื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย พื้นที่ห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม ลาดพร้าว และวังทองหลาง ระยะทางกว่า 5.11 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยเร็วที่สุด จุดนี้จึงเปรียบเสมือนหัวใจหลักในการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย

ทั้งนี้ กทม.มีแผนก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 แห่งได้แก่อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย โดยจะทดสอบระบบในวันที่ 1 ส.ค.นี้ และอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์เส้นทางการจัดระบบ จุดปิดเบี่ยงการจราจร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนระหว่างที่มีการก่อสร้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ