(เพิ่มเติม) นายกฯ สั่งเตรียมรับมือพายุโซนร้อน"ตาลัส"ห่วงน้ำเหนือไหลเข้าท่วมที่ลุ่มภาคกลาง

ข่าวทั่วไป Tuesday July 18, 2017 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมความพร้อมรับพายุโซนร้อน "ตาลัส" ที่กำลังจะเคลื่อนผ่านเข้าปกคลุมในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยขอให้มีการแจ้งเตือนประชาชนรับทราบล่วงหน้าก่อนที่ฝนจะตก

รวมถึงการเตรียมแผนงานให้พร้อมในการช่วยเหลือประชาชนให้เป็นไปอย่างทันท่วงที และหากเกิดน้ำท่วมฉับพลันให้เร่งดำเนินการการบริหารจัดการสถานการณ์ให้คลี่คลายโดยเร็ว ขณะเดียวกันระหว่างนี้ให้เตรียมหาแหล่งเก็บกับน้ำขนาดเล็กไว้ใช้ในช่วงที่จำเป็นหรือฤดูแล้ง เช่น การเก็บกับน้ำในลักษณะหลุมขนมครก

พร้อมทั้ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจจะมีปริมาณน้ำจำนวนมากทางภาคเหนือไหลลงมาสู่ภาคกลาง จนส่งผลกระทบต่อประชาชนบริเวณดังกล่าวได้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พายุโซนร้อน “ตาลัส" เคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยตอนบน ส่งผลทำให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ซึ่งกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร ได้สนับสนุนข้อมูลเรดาร์ตรวจวัดกลุ่มฝนในการเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและเตือนภัย เพื่อเป็นข้อมูลในการรับมือและวางแผนการจัดการน้ำให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาชน และเกษตรกร

ข้อมูลจากเรดาร์ตรวจวัดกลุ่มฝนจะแสดงบริเวณพื้นที่มีฝนตก รวมทั้งทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนนั้นๆ ซึ่งจะช่วยในการเตือนภัยและเตรียมการป้องกันน้ำท่วม โดยสถานีเรดาร์ฝนหลวงตั้งอยู่ 5 สถานี ได้แก่ สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่, สถานีเรดาร์ฝนหลวงพิมาย จังหวัดนครราชสีมา, สถานีเรดาร์ฝนหลวงตาคลี จังหวัดนครสวรรค์, สถานีเรดาร์ฝนหลวงสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และสถานีเรดาร์พนม จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยสนับสนุนข้อมูลครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับพื้นที่การเกษตรที่ยังคงมีความต้องการน้ำฝน และเน้นเติมน้ำให้กับเขื่อนรวม 11 เขื่อน ที่ยังคงมีน้ำปริมาณเก็บกักน้อย ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนลำตะคอง เขื่อนศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำพระปรง เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนสิริกิติ์ ทั้งนี้ การขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมขัง เพี่อไม่ให้ส่งผลกระทบและความเดือดร้อนแก่ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ