ซูเปอร์โพลชี้หากตั้ง"กระทรวงอุดมศึกษา"ควรให้เป็นสถาบันอิสระ แนะพัฒนาหลักสูตรการเรียน-คุณภาพบุคลากร

ข่าวทั่วไป Sunday September 3, 2017 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ปวีณรัตน์ สุขพงศ์พิมล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจโพลประเด็นสำคัญทางสังคม เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 64.8% ระบุ ไม่ทราบข่าวเรื่องการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ในขณะที่ 35.2% ระบุ ทราบข่าวเรื่องการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา แต่ที่น่าพิจารณา คือ ประชาชนเกินครึ่งหรือ 69.3% คิดว่ากระทรวงอุดมศึกษาควรเป็นสถาบันอิสระอย่างแท้จริง ให้กำกับดูแลโดยคณะบุคคลมืออาชีพ เชี่ยวชาญด้าน สถาบันอุดมศึกษามากกว่า ในขณะที่อีก 30.7% มองว่ากระทรวงอุดมศึกษาไม่ควรเป็นสถาบันอิสระ

นอกจากนี้ ถ้ากระทรวงอุดมศึกษายังคงอยู่ภายใต้การสั่งการของฝ่ายการเมือง พบว่า คุณภาพของนักศึกษา มหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 61.6% มองว่าคุณภาพของนักศึกษา มหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ จะเหมือนเดิม ในขณะที่มองว่าจะดีขึ้นมีเพียง 12.4% แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ประชาชน 26.0% คิดว่าคุณภาพของนักศึกษา มหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษา อื่นๆ จะแย่ลง

เมื่อสอบถามถึงเรื่องเชื่อมั่นหรือไม่ว่า หลังตั้งกระทรวงอุดมศึกษาแล้วการเมืองจะไม่แทรกแซงความเป็นอิสระของกระทรวงอุดมศึกษา พบว่า ประชาชนมากกว่าครึ่งหรือ 66.7% ระบุไม่เชื่อมันว่าการเมืองจะไม่แทรกแซงโดยมีเพียง 33.3% ยังคงความเชื่อมั่นว่าการเมืองจะไม่แทรกแซง และที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามว่าถ้าตั้งกระทรวงอุดมศึกษาขึ้นมาแล้ว คุณต้องการให้มีอะไรดีขึ้นบ้าง พบว่า ประชาชนมากกว่า 3 ใน 4 หรือ 75.6% ต้องการให้หลักสูตรการเรียนมีการพัฒนา ในขณะที่ 24.4% ต้องการให้บุคลากรมีคุณภาพ และอีก 10.9% ต้องการให้ดูในเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษา

ผู้ช่วย ผอ. ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดว่าสาธารณชนยังไม่เชื่อมั่น หรืออาจจะยังมองไปไม่ถึงเป้าหมายที่ทางฝ่ายนโยบายรัฐด้านการศึกษาได้กำหนดไว้ในการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา เพราะส่วนใหญ่มองว่าจะเหมือนเดิมและแย่ลงถ้ากระทรวงอุดมศึกษาถูกฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง จึงเรียกร้องให้พิจารณาความเป็นอิสระด้านการบริหารกระทรวงอุดมศึกษาด้วยคณะบุคคลมืออาชีพด้านสถาบันอุดมศึกษา และเป็นคณะบุคคลที่ไม่มีเรื่องพัวพันกับความขัดแย้งใดๆ ในอดีตที่ผ่านมา

"จึงเสนอให้ฝ่ายบริหารนโยบายสาธารณะด้านการศึกษา พิจารณาถึงข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้ และนำไปสู่ยุทธศาสตร์ของการนำพาการสนับสนุนของสาธารณชนต่อการขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้" น.ส.ปวีณรัตน์ระบุ

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,296 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ