กรมป้องกันฯ ประสาน 53 จังหวัด รวมถึงกทม.-ปริมณฑล เตรียมรับมือฝนตกหนักช่วง 10-11 ต.ค.

ข่าวทั่วไป Tuesday October 10, 2017 10:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชั่นที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนกลางในวันนี้ จากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ และเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือของประเทศไทยตามลำดับ ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น ฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค.60 ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังในพื้นที่ราบลุ่ม และดินถล่ม

ดังนั้น กรมป้องกันฯ จึงได้ประสาน 53 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย แยกเป็น ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เลย อุดรธานี นครพนม และสกลนคร ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และราชบุรี ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

พร้อมทั้งประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย และจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง เตรียมพร้อมรับมือฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ที่ลาดเชิงเขาที่ราบลุ่มต่ำ พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ พื้นที่ริมชายฝั่งทะเล และพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนักสะสมในพื้นที่และช่วงเวลาที่มีน้ำทะเลหนุนสูง กรณีมีฝนตกหนักถึงหนักมากปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรต่อวัน ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วงที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ