(เพิ่มเติม) กรมชลฯ เผยแนวโน้มปริมาณน้ำไหลสู่เจ้าพระยายังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยันคุมระบายไม่เกิน 2,600 ลบ.ม./วินาที

ข่าวทั่วไป Monday October 16, 2017 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลังมีการทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยพบว่าปริมาณน้ำทางตอนบนที่สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 2,849 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.39 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน (15 ต.ค.) 9 เซนติเมตร ส่วนเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังคงงดการระบายน้ำต่อเนื่องมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด สำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงในอีก 1 เดือนข้างหน้า

ส่วนเขื่อนเจ้าพระยายังคงควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนในเกณฑ์ไม่เกิน 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยวันนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,598 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่เวลา 06.00 น.ของเมื่อวานถึง 06.00 น.วันนี้ บริเวณจังหวัดสิงห์บุรีและอ่างทองเพิ่มขึ้น 1 เซนติเมตร ส่วนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำบริเวณบ้านป้อมเพิ่มขึ้น 1 เซนติเมตร, ที่บริเวณบ้านบางหลวงโดด เพิ่มขึ้น 3 เซนติเมตร และบริเวณ อ.บางบาล เพิ่มขึ้น 5 เซนติเมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

เนื่องจากกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ตอนล่าง โดยการทดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชะลอน้ำไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ ปัจจุบันรับน้ำเข้าไปรวมกันวันละ 578 ลบ.ม.ต่อวินาที และใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทั้งสองฝั่งรับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งต่างๆ รวม 12 ทุ่ง ช่วยบรรเทาและลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้มากกว่า 1,183 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ยังสามารถรับน้ำรวมกันได้อีกกว่า 310 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน (16 ต.ค.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 57,242ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 33,715 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% สามารถรองรับน้ำได้อีก 14,007 ล้าน ลบ.ม.เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 19,219 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 77% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 12,523 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 69% สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 5,653 ล้าน ลบ.ม.

ในส่วนของพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่ง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ กรมชลประทานได้ให้โครงการชลประทานทุกโครงการในพื้นที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันนำเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล และกระสอบทราย ทำคันป้องกันน้ำที่จะไหลเข้าท่วมถนนและเส้นทางสัญจร รวมทั้งนำถุงยังชีพและน้ำดื่มเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่องแล้ว

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า มั่นใจว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะไม่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุขนุน เพราะทั้งปิง วัง ยม น่าน มีการวางแผนบริหารจัดการไม่ให้กระทบ

ส่วนที่มีผลกระทบในปัจจุบันเกิดจากน้ำที่บึงบอระเพ็ดซึ่งมีประมาณ 300 ล้านลบ.ม. เกินความจุที่รับได้คือ 180 ล้านลบ.ม.ไหลมาเติมสถานีวัดน้ำที่นครสวรรค์ แต่เนื่องจากมีแก้มลิงเล็กแก้มลิงน้อยช่วยดักน้ำเอาไว้เต็มประสิทธิภาพ และด้านท้ายมีการตัดน้ำออกซ้ายขวา 570 ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 100 กว่าลบ.ม. ทั้งๆ ที่ฝนปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว ทำให้ขณะนี้ทุ่ง 12 ทุ่งตอนนี้น้ำอยู่ที่ 76% จาก ประมาณ 1,500 ล้านลบ.ม. คาดว่าน่าจะยืนระยะได้อีก 2 สัปดาห์น้ำน่าจะเต็มทุ่ง นี่คือระบบการช่วยเหลือของน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สิ่งที่ต้องจับตาดูตอนนี้คือ การระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งปัจจุบันระบายอยู่ที่ 46 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน แต่แผนจะเพิ่มเป็น 50 ล้านลบ.ม.ต่อวัน จากแผนระบายสูงสุดที่เตรียมไว้คือ 54 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เนื่องจากพายุ"ขนุน"กำลังเปลี่ยนเป็นดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวตังเกี๋ยและกลายเป็นหย่อมความกดอากาศกลางทะเล เพราะฉะนั้นไม่น่าจะมีผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ตาม บริเวณท้ายเขื่อนอุบลรัตน์จะมีระดับน้ำสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 20 ซม. ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ได้ทำการเสริมคัน 2 ฝั่งของแม่น้ำพองไว้แล้ว ซึ่งถ้าระบายน้ำเพิ่มที่ระดับ 50 ล้านลบ.ม.ก็จะทำให้แม่น้ำพองและแม่น้ำชีสูงขึ้นไม่เกิน 15-20 ซม.

ด้านนายสุรพงษ์ สารปะ ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ในช่วง 17-19 ต.ค. กทม.จะมีฝนหนักรุนแรงพอสมควรแต่ไม่เท่าวันที่ 13 ต.ค. ซึ่งปริมาณฝนอยู่ที่ 150-200 มิลลิเมตร และอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์จะเป็นปลายฤดูฝน ปริมาณฝนจะเบาบางลง

ส่วนช่วงพระราชพิธีนั้น ได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการติดตามสภาวะอากาศสำหรับพระราชพิธี ซึ่ง ณ ขณะนี้ คาดว่าช่วงวันที่ 20-26 ต.ค.จะยังมีฝนตกอยู่ แต่ถ้าจะเอาความแม่นยำต้องดูความชัดเจนก่อนถึงวันพระราชพิธี 7 วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ