ร้อยเอ็ด จับมืออุตสาหกรรมจังหวัด-สถาบันอาหารเร่งยกระดับห่วงโซ่การผลิตข้าวหอมมะลิแบบครบวงจรสู่ตลาดสากล

ข่าวทั่วไป Sunday October 22, 2017 13:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวในพิธีเปิดโครงการ “พัฒนาคุณภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงครบวงจร"ว่า จังหวัดร้อยเอ็ดได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการ “พัฒนาคุณภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงครบวงจร" ซึ่งสนับสนุนพันธกิจของจังหวัดร้อยเอ็ดที่ต้องการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม โดยในปีเพาะปลูก 2558/2559 ที่ผ่านมา จังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิได้ 2.6 ล้านไร่ ได้ผลผลิตรวมราว 1.2 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 442 กิโลกรัมต่อไร่ มีรายได้จากการจำหน่ายราว 10,000 ล้านบาท

“หากเราได้นำนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัยมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ข้าวหอมมะลิของจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน โรงสี ตลอดจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในภาคการผลิต สามารถนำผลผลิตข้าวหอมมะลิมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างครบวงจร เช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง เป็นต้น ก็จะเป็นการยกระดับคุณภาพและมูลค่าของข้าวหอมมะลิให้สูงขึ้น ช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขัน เพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดได้อีกทางหนึ่ง"นายวันชัย กล่าว

ด้านนางลักษมี รุจิระมานนท์ อุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดทั้งหมด 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ธุรกิจชุมชน เอสเอ็มอี และโรงสีข้าว กลุ่มที่ 2 ได้แก่ เกษตรกรหรือผู้ประกอบการโรงงาน หรือวิสาหกิจในภาคอุตสาหกรรมที่สนใจแปรรูปสินค้าจากข้าว และกลุ่มที่ 3 คือ หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ

“ในเชิงผลผลิตคาดว่าจะเกิดแผนการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการเพื่อความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 10 กลุ่ม เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากข้าวไม่น้อยกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ เกิดบรรจุภัณฑ์ต้นแบบไม่น้อยกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้แก่สมาชิกกลุ่มไม่น้อยกว่า 200 คน โรงสีข้าวและผู้ประกอบการเป้าหมายมีการพัฒนากระบวนการผลิตให้สอดคล้องตามมาตรฐานไม่น้อยกว่า 10 ราย เกิดการสร้างแบรนด์ไม่น้อยกว่า 10 แบรนด์ เกิดแผนพัฒนาคลัสเตอร์ข้าวจังหวัดร้อยเอ็ดไม่น้อยกว่า 10 แผนงาน เกิดการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง และเกิดการสื่อสารเพื่อสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้แพร่หลาย"นางลักษมี กล่าว

นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่สถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานดำเนินการนั้น มีกรอบระยะเวลา 6 เดือน มีแนวทางการดำเนินงานในภาพรวม ประกอบไปด้วยกิจกรรมหลักหลายด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การวิจัย หรือเชื่อมโยงงานวิจัยนวัตกรรมสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้านที่ 2 ได้แก่ การสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ให้เกิดการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ ด้านที่ 3 ได้แก่ การแลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตและลูกค้าผู้บริโภคในประเทศ และการประกอบธุรกิจด้านการตลาดเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ ด้านที่ 4 ได้แก่ การพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตข้าว ด้านที่ 5 ได้แก่ การส่งเสริมการตลาดสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าว

“นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนพัฒนาเครือข่าย หรือ Cluster Roadmap เพื่อนำไปสู่การวางแผนการพัฒนาศักยภาพเชิงธุรกิจ จัดตั้งผู้นำเครือข่ายและผู้ประสานงานเครือข่ายจนสามารถได้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคลัสเตอร์ข้าวร้อยเอ็ดของสมาชิกทั้ง 10 ราย ที่เข้าร่วมโครงการอย่างสมบูรณ์"นางนิตยา กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ