นายกฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการตลาดประชารัฐ-กระตุ้นศก.ฐานราก

ข่าวทั่วไป Saturday November 4, 2017 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า ขอให้ร่วมกัน “คิดดี พูดดี ทำดี" ถวายพ่อหลวง ซึ่งพระองค์ทอดพระเนตรพวกเรา ประเทศไทยและราษฎรของพระองค์อยู่เสมอ อีกทั้งขอให้ร่วมกันถวายพระเกียรติและดำรงไว้ซึ่งพระบรม เดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า “ในหลวงรัชกาลที่ 10" ด้วย ซึ่งจะทรงยึดมั่นแนวทางของสมเด็จพระบรมชนกนาถ เพื่อสนองพระราชปณิธานและเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยตลอดไป

พร้อมกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรผู้ประสบอุทกภัยเป็นอย่างยิ่ง โดยมีพระราชดำริให้ภาครัฐติดตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือ พ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด นอกจากทำแผนหลัก แผนรองและแผนเผชิญเหตุ ไว้ล่วงหน้า เพื่อจะดูแลป้องกัน และแก้ปัญหา ตลอดจนจิตอาสาต่าง ๆ ก็จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย รวมทั้งในเรื่องของการฟื้นฟูเยียวยาให้กับราษฎรที่ประสบภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เต็มที่ทันการณ์ ซึ่งรัฐบาลก็ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมและดำเนินการอย่างบูรณาการ ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ทั้งนี้ เพื่อจะส่งความช่วยเหลือไปยังพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง แม้ในพื้นที่ห่างไกลที่สุด และอาจจะถูกตัดขาดจากการสื่อสาร จากการคมนาคม อะไรก็ตาม เราก็พยายามอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังต้องมองที่ภาพรวมของประเทศด้วย ทั้งประเทศนั้นเราจะต้องเพื่อบูรณาความพยายามในการแก้ปัญหาในทุกด้านนะครับ ที่สำคัญแม้ว่าขณะนี้จะเกิดน้ำท่วม แต่ต้องคำนึงถึงน้ำในอนาคตด้วย เราก็ต้องไม่ระบายน้ำจนหมด จะได้ไม่เกิดภาวะภัยแล้ง หรือน้ำแล้ง น้ำไม่เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค หรือป้อนภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งน้ำในการรักษาระบบนิเวศ การผลักดันน้ำทะเล ทั้งนี้ เพื่อจะรักษาสมดุลให้ได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน ต้องแก้ไขกลับไป กลับมา ทีละปัญหา ก็เหมือนกับ “งูกินหาง" เกิดมายาวนานแล้ว

สิ่งที่ทุกคน ทุกฝ่ายต้องเข้าใจตรงกันก็คือ การทำงานร่วมกันนั้น จะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง คือ 1. เรื่องการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เราจะต้องเข้าใจ สามารถจะเข้าใจถึงธรรมชาติของน้ำ เราสามารถจะแยกเป็นพื้นที่ใหญ่ ๆ ได้คือ ภาคเหนือ ภาคกลางที่เชื่อมโยงถึงกัน โดยแม่น้ำปิง– วัง – ยม – น่าน ไหลรวมกันมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา พูดง่าย ๆ ก็คือ ลุ่มแม่น้ำยม ลุ่มแม่น้ำน่าน ด้านบนนะครับ ลงมาสู่ภาคกลาง ก็เป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเรามีแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน ซี่งจะช่วยแบ่งมวลน้ำบางส่วนจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเล ถ้าหากไม่สามารถบริหารตั้งแต่ข้างบนลงมา แล้วก็ตรงกลางนี้ด้วย บริหารจัดการไม่ได้ดี ย่อมส่งผลกระทบ เพราะว่าน้ำสะสมเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล เหมือนเช่นที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต สำหรับภาคอีสาน และภาคใต้ ก็เช่นกัน ภาคอีสานก็จะมีลุ่มแม่น้ำชี ลุ่มแม่น้ำมูล ซึ่งเราต้องศึกษาละเอียด เพราะว่าคนละส่วนกัน แต่ไหลลงมาที่ต่ำทั้งสิ้น ก็เกิดผลกระทบกับผู้ที่อยู่ใกล้แนวลำน้ำ แนวแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ที่มีความเชื่อมโยงถึงกัน จากนั้นไปก็เป็นเรื่องของภาคใต้ เพราะว่าฝนจะเลื่อนจากข้างบน ไปข้างล่าง ในช่วงนี้ฝนจะตกหนักในช่วงภาคใต้ เราจะต้องมีระบบการบริหารจัดการน้ำ ที่แยกเป็นส่วน ๆ แล้วจะทำอย่างไร ลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ แล้วไหลรวมกัน แล้วจะบริการอย่างไร จะหน่วงน้ำ ชะลอน้ำ ระบายน้ำได้อย่างไร ที่จะเกิดความสมดุลกัน ให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด ซึ่งรัฐบาลและ คสช. ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบไว้แล้ว ในภาพรวมทั้งประเทศ ความแตกต่างก็คือว่าเรามีการปรับปรุง สอดคล้องตลอดเวลา กับสถานการณ์ เราทำแผนงานขนาดใหญ่ ถึง 2565 หรือ 68 ที่เราทำมาตั้งแต่ 2557 เราก็ปรับเอาตรงช่วงที่ 2 ช่วงที่ 3 มาทำช่วงที่ 1 บ้าง เพราะในช่วงที่ผ่านมาก็มีปัญหาในเรื่องของภัยแล้งใช่หรือไม่ บางอย่างก็ต้องปรับ บางอย่างก็ต้องเพิ่ม เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายความว่า ทำแผนครั้งเดียว แล้วก็วางระยะยาวไป แล้วก็ทำให้ครบตรงนั้นคงไม่ได้ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สภาวะอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ฝนตกมากกว่าที่ควรจะตก เป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้เตือนเรามาตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น การสร้างความเข้าใจตรงนี้ เป็นสิ่งสำคัญ เรื่องของการเรียนรู้ที่อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับน้ำ จะทำอย่างไร ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง แล้วก็การบริหารจัดการน้ำ คืออะไร พวกเราหลายคนก็มีความลำบากมากขึ้น เพราะหลายคนอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ในพื้นที่ลุ่มต่ำ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องไปดูในเรื่องของที่อยู่อาศัย ในเรื่องของผังเมือง ซึ่งก็เดือดร้อนทุกคน ทุกคนก็ไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่เราก็ต้องพยายามหาวิธีการ รัฐบาลก็ไม่เคยหยุดคิดตรงนี้ ขอให้เข้าใจด้วย อันนี้ทำก่อน อันนี้ทำหลัง เอาอันหลังมาทำก่อน เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา จากข้อมูลที่เรามีอยู่ แล้วก็สอดคล้องกับความเร่งด่วนของปัญหา หาแนวทางใหม่ ๆ วันนี้เราก็ศึกษามาแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จเรียบร้อย 100% เพราะต้องผ่านขั้นตอนอีกมากมายในเรื่องของการเยียวยา แผนการเยียวยา งบประมาณ

ในเรื่องของการทำแนวทางศึกษาแนวทางขุดคลองเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เช่นเราก็มีการศึกษา การขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายน้ำหลากบริเวณ บางบาล และ บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยาระยะทาง 22 กิโลเมตร ตามแนวทางพระราชดำรินะครับ เช่น “คลองลัดโพธิ์" จ.สมุทรปราการ และ การขุดคลองส่งน้ำป่าสัก– อ่าวไทย ต่อเนื่องมาจากคลองชัยนาท–ป่าสัก ระยะทางประมาณ 135 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำออกสู่ทะเลอีกช่องทางหนึ่งนะครับ ก็ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่มีที่ดิน พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อยู่อาศัยที่จะต้องอยู่ในแนวทางการขุดคลอง จะต้องมีคนที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลก็พยายามดูแลอย่างดีที่สุด วางแผนการใช้งบประมาณ ศึกษาความคุ้มค่า ศึกษาผลกระทบ ศึกษาทำ EIA EHIA มีอีกหลายขั้นตอนด้วยกัน เพราะฉะนั้นเวลาเราก็ทำมาโดยตลอด เพราะว่าเราต้องฟังเสียงพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นก็มีส่วนหนึ่งได้รับความเดือดร้อน ส่วนหนึ่งไม่เดือดร้อน ก็ต้องหารือกันให้ได้ ทั้งนี้ ผมได้สั่งการให้เร่งศึกษาความเป็นไปได้ทุกอย่าง และดูแลประชาชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการในโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ด้วย อันนี้คงไม่เฉพาะเรื่องน้ำเรื่องเดียว หลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ต้องมีคนที่ต้องขยับขยาย แต่เราก็ต้องดูแลให้ดีที่สุด

เรื่องที่ 2. เรื่องการบริหารจัดการน้ำนั้น เราต้องพิจารณาทั้งในเรื่องของ “พื้นที่ เวลา และฤดูกาล" พร้อม ๆ กัน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ตะวันออก ตะวันตก เช่น ขณะนี้ทุ่งบางระกำ ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างใต้ จ.นครสวรรค์ลงมา ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกพืช ขอบคุณพี่น้องเกษตรกร ที่ทำการในห้วงปีนี้เพื่อให้ทันเวลาในการเพาะปลูก ทันเวลาในการเก็บเกี่ยว แล้วพร้อมเตรียมพื้นที่ ที่เป็น “ทุ่งรับน้ำหลาก" ซึ่งวันนี้รับน้ำได้มากกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือภาคใต้ ที่มีฝนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงนี้ ในช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ก็ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ในขณะที่ภาคอื่น ๆ มีฝนลดลง เพราะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วเป็นต้น ในปัจจุบัน 3 ปัจจัย ดังกล่าวนั้นจะมีความเชื่อมโยงกับการประกอบอาชีพ การหาเลี้ยงชีพของพี่น้องเกษตรกรนะครับ ปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ความต้องการของตลาดนะครับ

ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องบริหารจัดการในภาพรวมพืชเกษตรทั้ง 6 ชนิด เราต้องดูทั้งการใช้น้ำ ผลผลิต ต้นทุนการผลิต ผลผลิต ราคา และตลาด ในเวลาเดียวกันด้วย เรามองทุกมิติ มองอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ถ้าจะมองต้นทางอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมองตรงกลาง เพราะเป็นผู้ที่แปรรูป ส่งออก อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แล้วก็การตลาด ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ต้องบริหารแบบนี้ ก็ยังมีปัญหาอยู่เลย ขนาดลงรายละเอียดแบบนี้แล้ว เพราะฉะนั้นขอความร่วมมือจากพี่น้องให้ทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ด้วย ก็อยากให้ทุกคนมีรายได้ อยากให้ทุกคนเพาะปลูกพืชอย่างที่ตัวเองต้องการ มีความสุข แต่ติดปัญหาเรื่องธรรมชาติ เราต้องปรับให้สอดคล้องกับลมฟ้าอากาศด้วย 3. การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ตั้งสำนักงานบริหารจัดการน้ำอะไรต่าง ๆ ที่ชัดเจน แต่เราก็มีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำโดย คสช. ซึ่งผมก็เป็นผู้สั่งการเองมาโดยตลอด เอาแผนงาน โครงการ แผนคน แผนเงิน แผนงบประมาณ ของทุกกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำมาบูรณาการ แล้วก็อนุมัติ ในคณะกรรมการนี้ แล้วก็นำเข้า ครม. เพื่อจัดสรรงบประมาณ ก็ทำอย่างนี้มาตลอด วันนี้ก็ได้มีการจัดตั้ง สำนักงานบริหารจัดการน้ำ ในสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ทั้งนี้เพื่อจะทำงานให้สมบูรณ์ขึ้น ทั้งมีในส่วนของระบบข้อมูลสารสนเทศ มีอยู่หลายหน่วย งานด้วยกัน จะต้องมากรุปปิ้งกันให้ได้ เพื่อการทำงาน ทั้งเพื่อนำไปสู่การแสวงหาข้อตกลงใจ นำเข้าสู่การตกลงใจ และสั่งการ อีกทั้งเราต้องมีการจัดทำระบบงานที่ประสานสอดคล้องต้องกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีทั้งการพยากรณ์ลมฟ้าอากาศได้ สามารถแจ้งเตือน สามารถระดมทรัพยากรและเครื่องมือ เครื่องจักรกลต่าง ๆ สำหรับการช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชน ในการส่งผลักน้ำ ส่งน้ำ เหล่านี้ เป็นต้น ขอความร่วมมือทั้งในส่วนของเหล่าทัพ กองบัญชาการทัพไทย เหล่าทัพต่าง ๆ แล้วในส่วนของสมาคมต่าง ๆ ก็มาช่วยกันทั้งหมด ในลักษณะเป็นประชารัฐ ในการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณะภัย ภัยต่าง ๆ รวมทั้งภัยน้ำท่วมด้วย

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจัดตั้ง สำนักงานบริหารจัดการน้ำ คือเอารูปแบบของการทำงานของคณะกรรมการบริหารจัดหารน้ำเดิม มาทำให้เกิดชัดเจนขึ้น หน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นกลไก เพราะฉะนั้นปัญหาคือว่า หน่วยงานมีอยู่แล้ว หลายหน่วยงานด้วยกัน ก็ต้องมีหน่วยงานในลักษณะเป็นการขับเคลื่อน ในการกำกับดูแล และติดตามประเมินผล แล้วก็เอาแผนงานต่าง ๆ มาศึกษารายะเอียด เพราะว่าจะได้สอดคล้องต้องกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ก็ไม่ได้ เราพยายามทำมา 3 ปี แล้ว เกิดผลเป็นรูปธรรมหลาย ๆ อย่างด้วยกัน ช่วงนี้อาจจะ ช่วงแรก ๆ อาจจะมีปัญหาเรื่องน้ำแล้ง เราก็เร่งไปเรื่องน้ำแล้ง พอมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม เราก็แก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ทุกอย่างต้องเป็นไปตามสถานการณ์ความเป็นจริงนะครับ ของลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทุกปี ๆ ไป เราต้องทำงานให้มีเอกภาพ และมีการบูรณาการ ข้ามกระทรวง ข้ามหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น

ในช่วงฤดูฝนปีนี้ ประเทศไทยได้รับอิทธิพล จากพายุโซนร้อนตาลัสและเซินกา พายุไต้ฝุ่นทกซูรี และพายุดีเปรสชั่น ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2554 คืออย่าไปวัดว่าน้ำระบายเท่าไร ปีนี้ ปีก่อนเท่าไร ไปดูปริมาณฝนที่ตกลงมา คือปริมาณที่เราเรียกว่า ใกล้เคียงกัน หรือ มากน้อย ก็ไปดูตัวเลขตรงนี้แล้วกัน อย่าไปมองว่า มีหลายคนเขาบอกว่า น้ำปีนี้เท่านั้น น้ำปีโน้นเท่านั้น ต่างกันจากหมื่น กับพัน อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ ผมว่าต้องไปวัดปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา เพราะตกลงมาแล้ว หนึ่งคือตกลงไปในเขื่อน ถ้าเขื่อนเต็มก็ต้องระบายลงมา ขณะที่ระบายลงมาข้างนอกฝนก็ตกอีก ก็กลายเป็นน้ำท่า เป็นน้ำทุ่ง พอปล่อยน้ำลงมา เขาเรียกว่าเป็นน้ำท่า ไหลลงมาตามคันคลองชลประทาน หรือนอกเขตชลประทานบ้าง ตามพื้นที่ต่ำ แล้วก็น้ำทุ่งที่ฝนสะสมมา ก็มาไหลรวมกันอีก ก็ลงร่องตรงกลางที่ต่ำสุด ปริมาณน้ำก็เลยมากขึ้นทั้งสองอย่าง ต้องดูปริมาณน้ำด้วย ฝนตกเติมลงมาในนั้นน้ำทุ่ง น้ำท่า น้ำท่ามาจากน้ำฝน ทั้งหมดมาจากฝนหมด ทั้งช่วงก่อน และระหว่างที่มีน้ำเหนือไหลลงมาอีก จากการระบายน้ำ หรือการไหลลงมา จากภาคเหนือมาภาคกลาง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วก็อาจจะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายกับประชาชนบางส่วน เนื่องจากระบบบริหารจัดการน้ำ เรายังไม่สามารถทำครบระบบ ได้ในเวลานี้ หลาย ๆ อย่างก็ทำมาแล้ว แต่ต้องเป็นโครงการต่อเนื่อง ระยะยาว ตามความจำเป็น ตามงบประมาณ ปัจจุบันถือว่าเราควบคุมได้ แล้วไม่ขยายตัวเป็นวงกว้าง อาทิ

1. การดำเนินการก่อนน้ำมา เราได้มีการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำ แก้มลิง จำนวน ไปแล้วกว่า 5,000 โครงการทั่วประเทศ แล้วรับน้ำไว้ได้ราว 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ทำไปแล้ว การทำแผนการระบายน้ำ ในช่วงฤดูฝน โดยอาศัยข้อมูลทางสถิติ มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง เพื่อจะรู้ว่ามีน้ำเท่าไร เกินหรือยัง จะระบายได้ครั้งละเท่าไร หรือวันละเท่าไร เหล่านี้มีแผนทั้งหมด การปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกพืช ซึ่งก็เป็นการคาดการจากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ เราก็สามารถที่จะกำหนดได้ว่า ทุ่งนี้ ทุ่งนั้น จังหวัดนั้น จังหวัดนี้ จะปลูกกันยังไง ถ้าปลูกพร้อมกัน เวลาเดียวกัน บางทีก็มากเกินไป น้ำก็น้อยเกินไป ทำนองนี้ ถ้าเราปลูกลดหลั่นลงมาตามน้ำที่เราระบายออกมาได้ ไหลลงมาได้ในระบบชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ก็สามารถที่จะชะลอ ปริมาณการออกสู่ตลาด ได้น้อยลง ราคาก็สูงขึ้น ออกมาพร้อม ๆ กันราคาก็ตก เป็นเรื่องของการตลาด

วันนี้เราได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกพืชในหลายพื้นที่ด้วยกัน อาทิ ทุ่งบางระกำ เราก็สามารถให้เป็นทุ่งรับน้ำหลากได้ดังที่กล่าวมาแล้ว เรื่องของการกำจัดวัชพืช ขยะ และสิ่งกีดขวางทางน้ำในทุ่งเจ้าพระยา แม้กระทั่งในกรุงเทพมหานครก็ตาม รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่อง จักรกลต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ก็เตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ก็ใช้ไปมากมาย ไม่ใช่ปล่อยให้เสียหายมา แล้วถึงเวลาจะใช้ก็ใช้ไม่ได้ ผมได้มีการเตรียมการมาล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเราก็ต้องเตรียมเคลื่อนย้ายอุปกรณ์เหล่านี้ไปช่วยภาคใต้ต่อ ก็ไม่ได้หยุดกันเจ้าหน้าที่

เรื่องที่ 2. การดำเนินการระหว่างที่น้ำมา อันแรกนั่นป้องกัน เตรียมการ อันที่ 2 นี่ เมื่อน้ำมาแล้ว เราก็ต้องมีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน แหล่งเก็บกัก อ่างเก็บน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะอย่าลืมว่าบางเขื่อน บางอ่าง บางทำนบกั้น ก็ทำมาเป็นเวลานานหลายสิบปีมาแล้ว ย่อมมีการเสื่อมสภาพอยู่บ้าง แล้วเราก็ต้องให้ความสำคัญ สร้างความสมดุลในเรื่องการเติมน้ำ การพร่องน้ำ การหน่วงน้ำ การจัดจราจรน้ำ ทุกลุ่มน้ำ ในภาพรวมทั้งระบบ เหนือ กลาง ใต้ ตะวันตก ตะวันออก

การตัดยอดน้ำเข้าทุ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อจะทำหน้าที่แก้มลิง ที่ได้เตรียมไว้ อันนี้ต้องขอขอบคุณจริง ๆ ในการเสียสละของพี่น้องประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่เหล่านั้น โชคดีที่เขาเก็บเกี่ยวไปได้มาก ก็เสียหายแต่เพียงเล็กน้อย ที่ต้องรับผลกระทบแทนส่วนรวม ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปฏิทินเกษตรกรรม และการส่งน้ำ ให้สอดคล้องกันด้วย

เรื่องของการทำประมง ผมคงไม่ไปบอกให้ทำประมงในระหว่างน้ำท่วม หมายความว่าถ้าน้ำท่วมแล้วหลังจากนั้นปลูกพืชไม่ได้ น้ำท่วมอยู่ ก็ต้องหาวิธีการ อย่างเช่น ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง ครั้งนี้เราก็ปล่อยปลาไปด้วย ในช่วงที่น้ำยังขังอยู่ปลาก็โตขึ้นเรื่อย เราก็ใช้บริโภค ขายบ้าง อะไรบ้าง ที่เขาเรียกประมง ที่ผมพูดไม่ได้หมายความว่าให้ทำประมง แล้วน้ำท่วมประมงหมด อะไรทำนองนี้ บิดเบือนทุกอัน อันนี้ผมรับไม่ค่อยได้ พยายามทำความเข้าใจด้วย ผมก็บอกไปคิดดูแล้วกัน ครั้งนี้ก็มีการปล่อยปลาลงไปในทุ่ง 12 ทุ่งภาคกลาง ลุ่มเจ้าพระยา พระนครศรีอยุธยา และอีกหลายจังหวัด เสียสละกันมา ผมก็ให้ปล่อยลงไป ก็พยายามจะทำให้มีความแข็งแรงของพันธุ์ปลาที่ลงไป แล้วทุกคนมาหาปลาอย่างน้อยก็บริโภคได้ ถ้ามันเหลือก็ขาย นี่คือประมงของผมเป็นแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าไปทำบ่อปลาแล้วน้ำท่วมเหมือนที่หลายคนออกมาพูดเวลานี้ เราต้องมีรายละเอียดของพื้นที่เสี่ยงภัย แผนการอพยพเคลื่อนย้าย ที่สำคัญ การระดมสรรพกำลังในพื้นที่ไว้ล่วงหน้า ถ้าเรามีแผนตรงนี้ถึงเวลามันเกิดอะไรตรงไหนเราก็จะสามารถที่จะดำเนินการเร่งด่วนทันที แผนการแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค การติดต่อสื่อสารหลัก - รอง รวมความไปถึงวิทยุ-โทรทัศน์ การเตรียมความพร้อมทางร่างกาย - ความรู้ของเจ้าหน้าที่ รวมทั้ง เครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องชูชีพ อุปกรณ์นิรภัยด้วย อันนี้ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยกู้ภัยต่าง ๆ ด้วย แล้วภาคธุรกิจเอกชนเขาก็มาช่วยอย่างเต็มที่

ขั้นตอนที่ 3. การฟื้นฟูและเยียวยาซึ่งต้องดำเนินการโดยด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ช่วงนี้ก็ต้องมาดูว่า หลังจากน้ำท่วมไปแล้ว ซ่อมบ้านจะทำยังไง ถนนเสียหายทำยังไง เกี่ยวกับเรื่องการเกษตรจะทำอย่างไร ก็ได้มอบหมายให้ทุกกระทรวง ทบวง กรมไปพิจารณา มาตรการการเงิน การคลัง มาตรการทางภาษี เพื่อให้พวกเขาได้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว และสามารถอยู่ได้ไปพลางก่อนเพื่อจะ รอการเพาะปลูกในครั้งต่อไป ถึงต้องหาอาชีพเสริมไง หากทุกคนมีอาชีพทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว ผมว่าอยู่ลำบาก วันนี้และวันหน้า ทุกมาตรการ เงินบริจาคที่หลายคนบริจาคมาจะได้รับการลดภาษีตามสัดส่วน สำหรับประชาชนที่เดือดร้อน ใครที่เดือดร้อนใครที่เสียภาษีก็ได้รับการดูแลตรงนั้นด้วยอยู่แล้ว สำหรับในการลงพื้นที่ประสบภัยทั้ง 3 ครั้งในสัปดาห์นี้ ผมขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่เสียสละทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง ประชาชนเดือดร้อน ใจร้อนบ้าง เราก็ต้องอดทน เข้มแข็ง อธิบายทำความเข้าใจ และเพื่อรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน จะทำให้ความช่วยเหลือไปถึงพี่น้องประชาชนได้ทันการณ์ ของเรา อย่างทันการณ์และทั่วถึง ขอให้ลงรายละเอียดให้มากที่สุด ขอขอบคุณทุกภาคส่วน พี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ ก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ก็มาดูแลเจ้าหน้าที่ เห็นเอาข้าวปลามาเลี้ยงเจ้าหน้าที่ ทั้งทหารพลเรือน ชลประทาน ผมมีความรู้สึกปลื้มใจ ตื้นตันใจ ถึงแม้จะเดือดร้อนก็ยังมาดูแล เป็นห่วง เพราะว่าเขามาทำงานให้ท่าน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ายกย่องอย่างสูง

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นที่น่ายินดีที่ธนาคารโลกได้จัดอันดับ “ความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของไทย" หรือ Doing Business ในปีนี้ ดีขึ้นมากถึง 20 อันดับ คือ จากอันดับที่ 46 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 26 จาก 190 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ถือเป็นอันดับที่ดีที่สุด ที่ไทยเคยได้รับ และ ไทยยังเป็นประเทศที่มีพัฒนาการดีที่สุด เป็นอันดับ 2 ของโลกด้วย นะครับ โดยมีตัวชี้วัดที่ปรับดีขึ้น 8 จาก 10 ตัวชี้วัด โดยเฉพาะในเรื่องของการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งความสำเร็จอย่าง “ก้าวกระโดด" ในครั้งนี้ ทำงานอย่างหนัก รัฐบาลนี้ทำทุกเรื่อง อยู่หลายประเด็น หลายกฎหมาย ซึ่งต้องแก้ไข เพื่อจะทำให้การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจนั้นง่ายขึ้น (Ease of doing business ) ทั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ “กลไกประชารัฐ" มาช่วยกันทำตรงนี้

ปัจจุบันส่วนราชการหลายแห่งได้ยกระดับกระบวนการทำงาน และ การให้บริการประชาชนไปมาก ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา นี่คือเรื่องการปฏิรูประบบราชการ การทำงานและความร่วมมือกับภาคประชารัฐอื่น ๆ ด้วย รัฐบาลทำงานใกล้ชิดมากขึ้น มีการพูดคุยกับภาคเอกชนมากขึ้น และรับฟังปัญหาแก้ไขข้อบกพร่องของปัญหาในอดีต ที่เป็นกับดักของประเทศ มายาวนาน โดยเฉพาะเรื่องความยาก ง่ายในการประกอบธุรกิจ หลายสิบกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งเชื่อมโยงกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ “โดยตรง" ถ้าเราไม่แก้ไข ไม่ส่งเสริม ไม่แก้ไขเท่าที่ควร มันจะสะท้อนถึงระดับความเชื่อมั่น จากมุมมองภาคธุรกิจเอกชน และนักลงทุน ในประเทศ และทั่วโลก หลายคนก็บอกว่าเราไปมองต่างประเทศอย่างเดียวหรือมี ก็มีประโยชน์ทั้งกับคนไทยที่จะลงทุนในประเทศ และทั้งต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทย ก็ต้องทั้งสองอย่าง และต้องมุ่งเน้นให้คนในประเทศได้ประโยชน์ให้มากที่สุด อย่าไปเชื่อคำบิดเบือนต่าง ๆ อันนี้เป็นผลมาจาก ก้าวแรก ๆ ของเรา ในการปฏิรูปประเทศ เพื่อสอดคล้องนโยบาย ประเทศไทย 4.0"

ทั้งนี้ เพื่อการปฏิรูปที่ต่อเนื่อง และการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น รัฐบาลนี้ ยังมีแผนที่จะปรับปรุงการบริการอีกหลายประการ ซึ่งเน้นในเรื่องการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการให้บริการของภาครัฐ อาจจะเร็วขึ้นการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ให้ทันสมัย และไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้มองเห็นแต่เพียง “ตัวเลขอันดับ" หรือตัวเลขความน่าเชื่อถือเท่านั้นที่ดีขึ้น ผมมองไปถึง “โอกาสทางเศรษฐกิจ" เราก็จะสดใสขึ้น ที่ไม่เพียงจะส่งผลดี เฉพาะแต่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กก็ได้ จะได้ผลตรงนี้ด้วย เพราะเชื่อมโยงกันทั้งหมด เพราะว่าผมเคยพูดอยู่เสมอว่า “ทุกคนอยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน" ท่านลองนึกภาพโซ่เอาแล้วกัน ถ้าใครอยู่ในโซ่เดียวกันก็ขับเคลื่อนรถ ขับเคลื่อนมอเตอร์ไซต์ไปข้างหน้าได้ ถ้าใครไม่อยู่ในห่วงโซ่ตรงนี้ก็ไม่ได้ อยากให้ลองคิดตามว่า ถ้านักลงทุน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีความเชื่อมั่น ตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของเรา ที่เราพัฒนา 5 อย่างของเดิม และ 5 ใหม่ของเรา ที่ต้องการพัฒนาไปสู่ 4.0 นั้น กิจกรรมต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่ EEC ในพื้นที่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง หรือ ที่ใดก็ตามในประเทศ ที่อยากจะลงทุน ก็ย่อมจะนำไปสู่การจ้างงาน การสร้างรายได้ การกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น ไปจนถึงการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น การป้อนผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเราเน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับแรงงานของเราให้มีทักษะสูงขึ้น

คงจะเห็นแล้วว่า“การพัฒนา"เราต้องทำพร้อม ๆ กัน “การปฏิรูป" ต้องทำต่อเนื่อง ในส่วนที่ประชาชนยังไม่เข้มแข็ง รัฐบาลก็เข้าไปช่วยเหลือ ในส่วนที่พอช่วยตัวเองได้ ก็ส่งเสริมให้สามารถพัฒนาตนเองต่อไป และในส่วนที่ยืนบนขาตัวเองได้ ก็ต้องมองย้อนกลับมา แล้วยื่นมือมาเกื้อกูลกันต่อไป ตัวอย่างเช่น “ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม" ที่ผมริเริ่มไว้ 3 ปีมาแล้ว เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้า จากเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายย่อย ถึงผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้ง ยังมีการจับคู่ทางธุรกิจ การบริการแหล่งเงินทุน การเสริมความรู้ ทั้งการผลิต การแปรรูป และการตลาด ก็คือ ตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทุกเดือน เป็นเวลา 3 ปีแล้ว มียอดการจำหน่ายสินค้าในตลาดฯ กว่า 1,100 ล้านบาท มียอดการสั่งซื้อสินค้า อีกกว่า 720 ล้าน มีผู้ประกอบการ - ร้านค้าที่เคยเข้าร่วมในโครงการนี้ มากกว่า 7,000 ราย สำหรับเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็น “ตลาดเกษตร เกรดพรีเมี่ยม" ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 6 - 26 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเน้นสินค้าเกษตรคุณภาพและได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ ตลาดคลองผดุงฯ ซึ่งถือเป็น “ตลาดต้นแบบ" สำหรับการขยายผลสู่ “ตลาดนัดชุมชน 4.0" ทั่วประเทศ และ “ตลาดประชารัฐ" ที่กำลังจะเปิดให้บริการ ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ซึ่งดำเนินงาน ในรูปแบบประชารัฐ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ตลาดใหม่ รวมทั้งขยายพื้นที่ตลาดเดิม สำหรับรองรับการจัดจำหน่ายสินค้าให้กระจายตัว อย่างทั่วถึงสามารถสนับสนุนให้พี่น้องประชาชน เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้มีโอกาสค้าขายมากขึ้นลดต้นทุนทางการตลาด และเปิดโอกาสให้กับผู้ค้ารายใหม่ได้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น แบ่งออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่...

1. ตลาดประชารัฐ Green Market ขององค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นการขยายพื้นที่ตลาดเดิม สามารถรองรับผู้ค้ารายใหม่ได้กว่า 800 ราย

2. ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ของกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 2,000 กว่าแห่ง เป็นการขยายตลาด เพื่อเพิ่มกลุ่มผู้ค้าในชุมชน และเกษตรกร ได้มีโอกาสนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น รองรับผู้ประกอบการ ประมาณ 20,000 กว่าราย

3. ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กว่า 3,800 แห่ง เป็นการบริหารจัดการพื้นที่ตลาดเดิม เปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้ค้าหาบเร่และแผงลอย ได้เข้ามาทำการค้าขายในพื้นที่ รองรับผู้ประกอบการ ประมาณ 40,000 กว่าราย

4. ตลาดประชารัฐ กทม.คืนความสุข 14 แห่ง เป็นการหาพื้นที่ให้แก่ผู้ประกอบการที่เดือดร้อน เนื่องจากไม่มีพื้นที่ค้าขาย รองรับกลุ่มผู้ค้ารายใหม่กว่า 10,000 ราย

5. ตลาดประชารัฐของดีจังหวัดดำเนินการโดย จังหวัดและบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จังหวัด(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ซึ่งเป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีความโดดเด่นในพื้นที่ เช่น สินค้าตามฤดูกาล ณ สถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น

6. ตลาดประชารัฐ Modern Tradeของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด โดยการเพิ่มพื้นที่ตลาดในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ภายในจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้กับเกษตรกร ได้นำสินค้าไปขาย ในราคาค่าเช่าถูก หรือไม่เสียค่าใช้จ่าย

7. ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส.ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยเพิ่มพื้นที่ให้กับผู้ค้ารายใหม่ในตลาดนัดของ ธ.ก.ส.ที่มีอยู่ 147 แห่งทั่วประเทศ

8. ตลาดประชารัฐต้องชม ของกระทรวงพาณิชย์ โดยเป็นการส่งเสริมด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ เพื่อกระตุ้นการค้าขาย เช่น ตลาดน้ำ ตลาดแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

และ 9. ตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรมถนนสายวัฒนธรรม ของกระทรวงวัฒนธรรม เป็นการส่งเสริมการตลาดสินค้าเชิงวัฒนธรรม เช่น การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม การสาธิต และการให้บริการทางวัฒนธรรม เป็นต้น

การขับเคลื่อนโครงการตลาดประชารัฐ จะใช้กลไกของ “ศูนย์ดำรงธรรม"ที่มีอยู่ทั้งในระดับจังหวัด และอำเภอ เป็นสถานที่รับลงทะเบียนให้กับผู้ที่ประสงค์จะมีพื้นที่ค้าขาย ได้ลงทะเบียน เพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 10 - 30 พฤศจิกายน ศกนี้ โดยศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ตามช่องทางในการประชาสัมพันธ์บนหน้าจอ ทั้งนี้ “ตลาดประชารัฐ" ที่กล่าวมาทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวม 6,523 แห่งทั่วประเทศ ผมจึงขอเชิญชวนผู้ประสงค์พื้นที่ค้าขาย ลงทะเบียนเพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการต่อไป ถ้าเราไม่ได้สมัครก็ไม่ได้เข้ามา จะไปร้องเรียนข้างนอกอีก ก็ไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อจะร่วมกันสร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ให้กับกลุ่มผู้ค้ารายใหม่ ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น รัฐบาลคาดว่าจะเปิดพร้อมกันได้ ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ