โพลเผยคนอีสานพึ่งพาบัตรทองในสัดส่วนที่สูง พึงพอใจสิทธิประกันสังคมต่ำสุด

ข่าวทั่วไป Saturday November 18, 2017 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อีสานโพล (E-Saan Poll) เผยคนอีสานยังพึ่งพาประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในสัดส่วนที่สูง ขณะที่กลุ่มคนที่มีสิทธิประกันสังคมมีความพึงพอใจต่ำที่สุด กลุ่มที่มีสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/อปท.มีความพึงพอใจสูงที่สุด เกือบครึ่งยังไม่ซื้อหรือมีประกันสุขภาพของบริษัทประกันชีวิต กลุ่มผู้มีสิทธิบัตรทองหนุนระบบบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐ ให้ผู้ที่พอมีฐานะร่วมจ่าย ตัดลดงบประมาณกระทรวงอื่นช่วยกระทรวงสาธารณสุข และเก็บภาษีจากสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่ออุดหนุนโรงพยาบาล ขณะที่กลุ่มมีสิทธิประกันสังคมขอทางเลือกในการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น แต่ไม่เอาแนวทางตัดลดสวัสดิการบำนาญชราภาพ

"ความพึงพอใจการได้รับบริการจากสวัสดิการรักษาพยาบาลที่มี พบว่า กลุ่มที่มีความพึงพอใจมากจะเป็นกลุ่มมีสิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการของข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร้อยละ 48.7 รองลงมาคือกลุ่มประกันสุขภาพถ้วนหน้าบัตรทองร้อยละ 40.7 ขณะที่กลุ่มประกันสังคมมีความพึงพอใจมากในสัดส่วนร้อยละ 37.4" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ส่วนการทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิต พบว่า กว่าครึ่งหรือร้อยละ 44.8 ไม่มีประกันดังงกล่าว รองลงมาร้อยละ 37.6 ซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตเอง ตามด้วยร้อยละ 9.0 มีประกันสุขภาพของบริษัทประกันชีวิตโดยมีนายจ้างจัดให้ และร้อยละ 8.6 มีทั้งแบบที่ซื้อเองและนายจ้างจัดให้

สำหรับความคิดเห็นกลุ่มผู้ใช้สิทธิบัตรทองเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อให้มีความยั่งยืนนั้น อันดับหนึ่งร้อยละ 74.8 เห็นด้วยกับแนวทางมีระบบส่งเสริม/จูงใจให้คนบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐ รองลงมาร้อยละ 74.1 เห็นด้วยกับแนวทางกำหนดให้ผู้ที่พอมีฐานะร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลบางส่วน ตามมาด้วยร้อยละ 71.1 เก็บภาษีเฉพาะพิเศษกับสินค้าฟุ่มเฟือย/ไม่ดีต่อสุขภาพ เพื่อเป็นงบอุดหนุนเพิ่มเติม และร้อยละ 70.6 เห็นด้วยกับแนวทางตัดลดงบประมาณกระทรวงอื่นๆ เพื่อเพิ่มงบให้กระทรวงสาธารณสุข

ส่วนความคิดเห็นกลุ่มผู้ใช้สิทธิประกันสังคมเกี่ยวกับการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านการเจ็บป่วยเพื่อให้มีความยั่งยืน ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.8 เห็นด้วยกับแนวทางที่ให้ผู้ประกันตนมีทางเลือกในการจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น และร้อยละ 52.2 เห็นด้วยกับแนวทางเก็บภาษีเฉพาะพิเศษกับสินค้าฟุ่มเฟือย/ไม่ดีต่อสุขภาพ เพื่อเป็นงบอุดหนุนเพิ่มเติม ซึ่งแนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนไม่มากนัก เนื่องจากพนักงานบริษัทเป็นกลุ่มที่มักได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้าต่างๆ

ขณะที่ร้อยละ 67.8 ไม่เห็นด้วยกับแนวทางตัดลดสวัสดิการบำนาญชราภาพ เพื่อนำงบมาปรับปรุงการให้บริการรักษาพยาบาล และร้อยละ 51.7 ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ผู้ประกันตนทุกคนจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น เพื่อปรับปรุงการให้บริการรักษาพยาบาล

สำหรับการร่วมบริจาคโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อหาเงินช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาลของ "ตูน บอดี้สแลม" นั้นพบว่า ร้อยละ 45.9 จะร่วมบริจาค รองลงมาร้อยละ 31.8 บริจาคแล้ว ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 22.3 ไม่สะดวกจะบริจาค

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สำรวจความคิดเห็นของคนอีสานที่มีต่อสวัสดิการรักษาพยาบาล ระหว่างวันที่ 10-12 พ.ย.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด จำนวน 1,095 ราย โดยร้อยละ 71.2 มีสิทธิรักษาพยาบาลด้วยประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) รองลงมาร้อยละ 19.0 มีสิทธิรักษาพยาบาลด้วยประกันสังคม และร้อยละ 9.8 มีสิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการของข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ