กรมควบคุมโรค เตือน 7 โรคติดต่อเฝ้าระวังปี 61 ระบุ ไข้เลือดออก-ไข้หวัดใหญ่ยังเสี่ยง

ข่าวทั่วไป Friday December 22, 2017 13:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมคณะผู้บริหารจากกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเรื่อง “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ พ.ศ.2561” ซึ่งกรมควบคุมโรคได้วิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา โดยวิธีอนุกรมเวลา วิเคราะห์จำนวนและช่วงเวลาการเกิดโรคต่างๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรค และนำมาพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2561 เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพยากรณ์โรคติดต่อ และกลุ่มที่ 2 โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ ดังนี้ การพยากรณ์โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2561 มี 7 โรคสำคัญ ได้แก่

1.โรคไข้เลือดออก จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 50,033 ราย เสียชีวิต 59 ราย โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมาพบโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ตลอดทั้งปีประมาณ 50,000 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในเดือนมิถุนายน–กันยายน โดยจะพบผู้ป่วย 4,500–9,000 รายต่อเดือน ส่วนการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง โดยวิเคราะห์จากพื้นที่ที่ระบาดซ้ำซากใน 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าจะมีพื้นที่เสี่ยง 35 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันกำจัดยุงลายตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน 2.เก็บขยะ และ 3.เก็บน้ำ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

2.โรคไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 189,870 ราย เสียชีวิต 54 ราย สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 220,000 ราย โดยจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในฤดูฝน (มิถุนายน–ตุลาคม) ประมาณ 13,000-48,000 รายต่อเดือน ส่วนจังหวัดที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงสูงมี 23 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดขนาดใหญ่และจังหวัดที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรสูง (ประเมินความเสี่ยงรายจังหวัด โดยพิจารณาจากอัตราป่วยเฉลี่ยสามปีล่าสุด) กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้ 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ 3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4.หยุด คือ เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด

3.โรคมือ เท้า ปาก จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 68,084 ราย เสียชีวิต 3 ราย การพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 94,000 ราย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน–กันยายน อาจมีผู้ป่วย 8,000–23,000 รายต่อเดือน ซึ่งโรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพอง และอุจจาระของผู้ป่วย ส่วนวิธีป้องกันคือรักษาความสะอาดร่างกาย หมั่นล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากมีเด็กในสถานศึกษาป่วยโรคมือ เท้า ปาก ต้องแยกเด็กป่วยออก ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน และพักอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ

4.โรคตาแดง จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 105,415 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต การพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 146,000 ราย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน–กันยายน อาจมีผู้ป่วย 8,000–35,000 รายต่อเดือน กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า โรคนี้ติดต่อกันง่ายจากการสัมผัสกับน้ำตา หรือติดจากการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน หลังติดเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล แสบตาเวลาถูกแสง มีขี้ตามากกว่าปกติ ผู้ที่เป็นโรคนี้ ขอให้ใช้กระดาษทิชชูเช็ดขี้ตา ขอให้ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงวันแมลงหวี่ตอมตา แยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าห่ม ผ้าขนหนู ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น

5.โรคอาหารเป็นพิษ จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 101,000 ราย เสียชีวิต 3 ราย (จากจังหวัดมหาสารคามทุกราย) การพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 100,000 ราย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม–พฤษภาคม อาจมีผู้ป่วย 9,000–11,000 รายต่อเดือน กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และรักษาสุขอนามัย จะช่วยป้องกันโรคอาหารเป็นพิษได้

6.โรคไข้ฉี่หนู จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 3,257 ราย เสียชีวิต 59 ราย โดยพบว่าภาคใต้จะมีจำนวนผู้ป่วยสูงในช่วงเดือนพฤศจิกายน–มกราคม ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงในช่วงเดือนมิถุนายน–กันยายน การพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 5,000 ราย กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนว่า ให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง หากมีบาดแผลที่เท้าหรือที่บริเวณขา ขอให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล

และ 7.โรคเมลิออยโดสิส จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 3,140 ราย เสียชีวิต 68 ราย พบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝนของทุกปี สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย โดยในช่วงฤดูฝนอาจมีผู้ป่วยประมาณ 200-300 รายต่อเดือน โรคนี้ติดต่อจากการสัมผัสดินหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อเข้าทางบาดแผล การสำลักหรือกลืนน้ำ หรือหายใจเอาละอองฝุ่นของดินที่มีเชื้อปนเปื้อน คำแนะนำผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และผู้ที่มีบาดแผลควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำ เช่น ในนาข้าว ซึ่งเป็นแหล่งที่มีโรคชุกชุม ประชาชนทั่วไป ควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือหากจำเป็นต้องรีบทำความสะอาดหลังเสร็จงานทันที

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการพยากรณ์โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ มี 2 เรื่อง ดังนี้ 1.การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ดังนี้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ที่ผ่านมา พบจำนวนผู้บาดเจ็บทุกกรณี 28,504 ราย และเสียชีวิต 553 ราย (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข) และยังพบว่ามีการใช้แอลกอฮอล์ 30.5% พาหนะที่เกิดเหตุส่วนใหญ่คือรถจักรยานยนต์ 80.3% ส่วนยานพาหนะที่มีสัดส่วนการเสียชีวิตสูงสุดคือรถตู้สาธารณะ 48.2%

เมื่อทำการคาดการณ์จำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 นี้ คาดว่าจำนวนผู้บาดเจ็บใกล้เคียงปี 2560 ประมาณ 27,000 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 450 ราย ส่วนในช่วงเทศกาลเทศกาลสงกรานต์ 2560 ที่ผ่านมา พบจำนวนผู้บาดเจ็บทุกรณี 28,795 ราย และผู้เสียชีวิต 466 ราย โดยพบมีการใช้แอลกอฮอล์ 28.3% พาหนะที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ก็ยังเป็นรถจักรยานยนต์ 80.1% ส่วนยานพาหนะที่มีสัดส่วนการเสียชีวิตสูงสุดคือ รถไฟ 33.3% เมื่อทำการคาดการณ์จำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 คาดว่าจำนวนผู้บาดเจ็บจะใกล้เคียงปี 2560 ประมาณ 28,000 ราย และผู้เสียชีวิตประมาณ 420 ราย กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ผู้ขับขี่รถยนต์ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง หากดื่มสุราแล้วไม่ควรขับรถ และง่วงต้องไม่ขับ เป็นต้น

และ 2. การป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจในช่วงปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะในเดือนมกราคม–เมษายนของทุกปี ที่เป็นช่วงอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิต่ำและมีหมอกควันหนาขึ้น มีผลกระทบทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคปอดบวม/ปอดอักเสบ โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน พะเยา แพร่) การคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยในช่วงเดือนมกราคม–เมษายน พ.ศ.2561 จะมีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 56,000-90,000 ราย ประชาชนและผู้ที่มีโรคประจำตัว ในพื้นที่เสี่ยงจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ได้แก่ โรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาจทำให้อาการกำเริบรุนแรงจนเสียชีวิตได้

สำหรับมาตรการในการดำเนินงานเพื่อปกป้องประชาชนจากโรคและภัยสุขภาพดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งในส่วนกลาง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจจับ คัดกรองโรคและภัยสุขภาพ และเตรียมพร้อมทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) รวมถึงการตอบโต้โรคและภัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในปัจจุบันต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด โรงเรียน และประชาชนทั่วไป เพื่อป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงลดการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ