กรมป้องกันฯ เตือนภาคใต้รับมือภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุ “เท็มบิน” 26-28 ธ.ค.

ข่าวทั่วไป Monday December 25, 2017 13:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 25-26 ธันวาคม 2560 พายุไต้ฝุ่น “เท็มบิน" (TEMBIN) มีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชันตามลำดับ โดยในช่วงวันที่ 26-28 ธันวาคม 2560 พายุจะเคลื่อนตัวลงสู่อ่าวไทยและภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเกิดขึ้นได้ สำหรับภาคใต้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ กรมป้องกันฯ จึงได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการ เผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรง และคลื่นสูง 2-4 เมตร

"ขอให้ประชาชนบริเวณชายฝั่งระมัดระวังอันตรายจากคลื่นซัดฝั่ง ชาวประมงให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป" นายชยพล กล่าว

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้จากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน- 25 ธันวาคม 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร นราธิวาส นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และกระบี่ รวม 123 อำเภอ 835 ตำบล 6,187 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 598,568 ครัวเรือน 1,906,786 คน เสียชีวิต 38 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ สตูล ยะลา นราธิวาส ชุมพร ปัตตานี ตรัง สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่อำเภอพุนพิน รวม 11 ตำบล 46 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,424 ครัวเรือน 10,356 คน ซึ่ง ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยแจกจ่ายถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค และน้ำดื่ม จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับผู้อพยพ พร้อมระดมทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทั้งรถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถบรรทุก รถสุขาเคลื่อนที่ เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ