กรมควบคุมโรค ถกมาตรการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า หลังพบผู้ใหญ่ป่วยมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Thursday January 11, 2018 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและที่ปรึกษากรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทบทวนมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ซึ่งโดยปกติพบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมานี้ พบว่ามีรายงานในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจติดเชื้อจากการดูแลเด็กที่ป่วย หรือติดจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยเชื้อไวรัสโรต้ามักจะพบมากในช่วงฤดูหนาว

ทั้งนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยจากโรคอุจจาระร่วงประมาณ 1 ล้านคน ใกล้เคียงกันทุกๆ ปี โดยพบว่าจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นในช่วงปลายปีจนถึงต้นปี 2561 นี้ และจากการสุ่มตรวจพบว่ามีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ และพบมากในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคจะมีการเฝ้าระวังและสอบสวนเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนต่อไป ซึ่งมาตรการที่จะเน้นในการป้องกันและควบคุม ได้แก่ 1) การสื่อสารให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความตระหนัก 2) การดำเนินการควบคุมในพื้นที่ที่มีการระบาด 3) การวางระบบเฝ้าระวังอุบัติการณ์โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าอย่างต่อเนื่อง 4) การควบคุม มาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อม และ 5) การควบคุมมาตรฐานคลอรีนในน้ำประปา

ส่วนวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า นั้น มีข้อบ่งใช้เฉพาะในเด็กเล็ก โดยให้ครั้งแรกในเด็กอายุไม่เกิน 16 สัปดาห์ หยอดเข้าทางปาก จำนวน 2 หรือ 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน ซึ่งวัคซีนสามารถลดการป่วยและความรุนแรงของโรคได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อนำวัคซีนนี้เข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศต่อไป ทำให้ขณะนี้ยังไม่มีให้บริการในโรงพยาบาลรัฐทั่วไป แต่มีให้บริการแบบมีค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลของรัฐบางแห่ง

ด้าน นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า เกิดจากการรับเชื้อที่มากับอาหารและน้ำโดยตรงเข้าทางปาก หรือโดยอ้อมหลังการสัมผัสกับเครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัส โดยจะมีอาการภายใน 1-3 วัน และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่าสัปดาห์หลังเริ่มมีอาการ ส่วนอาการของโรคคือ มีไข้ อาเจียน และท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการขาดน้ำ หากรับการรักษาไม่ทันหรือไม่เหมาะสม อาจเกิดอันตรายได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลยังพบอีกว่า สามารถมีการติดเชื้อซ้ำได้หลายครั้ง โดยครั้งหลังๆ อาการจะน้อยลง

การป้องกันสามารถทำได้โดยใช้มาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ดังนี้ 1.รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน และสะอาด 2. การใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน และ 3.หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทั้งก่อนและหลังปรุงอาหาร และภายหลังการใช้ห้องน้ำ นอกจากนี้ ขอให้ระมัดระวังการกินน้ำแข็งที่ไม่สะอาด เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ ได้ และควรกำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร รวมถึงการดูแลสภาพแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ประชาชนควรหมั่นสังเกตอาการ หากเริ่มมีอาการไข้ อาเจียน หรืออุจจาระร่วง ควรหยุดเรียน หยุดงาน หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด ดื่มน้ำเกลือแร่หรือสารละลายเกลือแร่ เพื่อทดแทนสารน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป ไม่ควรซื้อยาฆ่าเชื้อกินเอง หากอาการรุนแรงขึ้น เช่น อาเจียน หรือถ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว ในสถานที่ที่พบผู้ป่วยหลายคน ควรมีการทำความสะอาดบริเวณรอบๆ และสิ่งแวดล้อมด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ