กรมควบคุมโรคเตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานไม่ให้ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงเกินไป เพราะอาจถูกกัดหรือข่วน เสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า

ข่าวทั่วไป Saturday March 24, 2018 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงนี้พบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์หลายพื้นที่ ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม เด็กที่เล่นกับสัตว์จึงมีโอกาสถูกกัดได้ง่าย กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าหากถูกสุนัข แมว กัดหรือข่วน ให้รีบปฏิบัติ ดังนี้ 1.รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในกาลดการติดเชื้อ เพราะจะทำให้เชื้อโรคต่างๆ ที่บริเวณนั้นหลุดออกจากแผลไปตามน้ำ จากนั้นเช็ดแผลให้แห้งและใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน หรือยาฆ่าเชื้ออื่นๆ

2.ต้องจดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด หากเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของควรขอประวัติการฉีดยาของสุนัข หากเป็นสุนัขไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบที่มาของสัตว์ ควรแยกสัตว์ไว้สังเกตอาการ 10 วัน หรือแม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านก็ตาม และ 3.ไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ผู้เลี้ยงสุนัขหรือแมว ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งแรกเมื่อมีอายุ 2–4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรระมัดระวังเด็กในการเล่นกับสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเล่นใกล้ชิดเกินไป ไม่แหย่หรือรบกวนสุนัข หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่มีพฤติกรรม

สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.– 22 มี.ค.61 ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 6 ราย จาก 6 จังหวัด (สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์) ผลการตรวจตัวอย่างสัตว์พบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า (ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์) วันที่ 1 ม.ค.–21 มี.ค.61 พบตัวอย่างผลบวกในพื้นที่ 37 จังหวัด จำนวน 444 ตัวอย่าง จากตัวอย่างที่ส่งตรวจทั้งหมด 3,261 ตัวอย่าง คิดเป็น 13.26% ชนิดสัตว์ที่ตรวจพบคือสุนัข 91.67% โค 5.86% และแมว 2.48% ส่วนผลบวกเฉพาะตัวอย่างสุนัข-แมว พบว่าไม่มีเจ้าของและไม่ทราบประวัติร 41.14% และพบว่าไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่ทราบประวัติวัคซีนถึง 87.79%

ทั้งนี้ หากประชาชนพบสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตาย หรือมีอาการอัมพาต ขาอ่อนแรง คลุ้มคลั่งมีอาการดุร้าย โปรดแจ้งไปที่กรมปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด อสม.หรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ