รฟท.จัดทำ"โครงการ 1+1=0 รถไฟไทยปลอดภัยทุกเส้นทาง" ยกระดับความปลอดภัยพัฒนาสู่รถไฟทางคู่ในอนาคต

ข่าวทั่วไป Friday May 4, 2018 11:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กลุ่มยุทธศาสตร์ กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เตรียมแผนในการลดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะบริเวณจุดตัดรถไฟซึ่งเป็นอุบัติเหตที่เกิดขึ้นกับรถไฟบ่อยที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการและเตรียมความพร้อมในการสร้างจิตสำนึกในการระมัดระวังในการใช้จุดตัดรถไฟ จึงบรรจุ "โครงการ 1+1 =0 รถไฟไทยปลอดภัยทุกเส้นทาง" ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเป็นการรณรงค์ถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ทางลักผ่าน ทางตัดผ่าน ทุกเส้นทาง อีกทั้งทำความเข้าใจร่วมกันกับผู้ขับขี่ยวดยาน เกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2552 อย่างถูกต้อง รวมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนถึงสัญลักษณ์หรือป้ายเตือนต่าง ๆ และคำแนะนำในการปฏิบัติเมื่อต้องขับรถผ่านจุดตัดรถไฟ เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ ส่งเสริมความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนที่ขับขี่ยวดยาน และเป็นการลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอีกด้วย

ที่ผ่านมาการรถไฟฯ จัดกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการใช้ทางตัดเสมอระดับให้ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เคยลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและชุมชนใกล้เคียงแบบใกล้ชิด ปีนี้จึงเป็นโอกาสดีที่โครงการฯ ดังกล่าว จะเริ่มนำร่องลงพื้นที่ทางตัดสถานีรถไฟวัดงิ้วราย จังหวัดนครปฐม ในเขตภาคกลางและปริมณฑล และทางตัดสถานีรถไฟบ้านปิน จังหวัดแพร่ ในเขตภาคเหนือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยจะสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงบริเวณทางตัด ทั้งโรงเรียน วัด และหมู่บ้านต่าง ๆ คำนึงถึงความปลอดภัย และการปฏิบัติตามกฎจราจรก่อนข้ามทางตัด รวมทั้งการให้ความสำคัญกับป้ายสัญลักษณ์เตือนต่าง ๆ อาทิ ป้ายทางข้ามทางรถไฟมีเครื่องกั้นทาง ป้ายทางข้ามทางรถไฟไม่มีเครื่องกั้นทาง ป้ายหยุด ป้ายกากบาท "ระวังรถไฟ" อันเป็นการลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินและเป็นการสร้างมวลชนสัมพันธ์อีกด้วย

"หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยเผยแพร่ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับจุดตัดทางรถไฟที่ถูกต้องและสร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้เส้นทางมีวินัยและตระหนักในการใช้เส้นทาง เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุให้เหลือเท่ากับศูนย์ในอนาคตอันใกล้ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในการยกระดับสู่รถไฟทางคู่ที่จะสมบูรณ์พร้อมให้บริการในอนาคต" นางสิริมา กล่าว

อนึ่ง ระบบรางของไทยที่มีใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2464 ซึ่งได้ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน จึงอาจมีผลต่อความปลอดภัย และความไม่สะดวกสบายในการเดินทางไปบ้าง แต่ต่อไปอีก 20 ปี เราจะได้เห็นรถไฟทางคู่ที่มีความทันสมัยซึ่งการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มที่จะช่วยปรับปรุงระบบโลจิสติกส์สำหรับธุรกิจ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เร่งรัดแผนการลงทุน โครงการรถไฟทางคู่ 14 เส้นทาง มูลค่าการลงทุนกว่า 3.9 แสนล้านบาท อาทิ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และเส้นทางจิระ-ขอนแก่น, เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ, เส้นทางนครปฐม-หัวหิน, เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างรถไฟทางคู่ที่มาพร้อมกับความทันสมัย ความสะดวกสบาย จะมาควบคู่กับความปลอดภัย เพื่อสร้างมั่นใจให้แก่ผู้โดยสารและชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงสถานีรถไฟ

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ในช่วงปี 2554-2556 มูลค่าของอุบัติเหตุเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 5.45 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับปรุงการโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงระบบรางให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตการเดินทางโดยรถไฟจะเป็นระบบการคมนาคมของชาติ อุบัติเหตุย่อมลดลงและจะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ