(เพิ่มเติม) กนช. มอบสทนช.บูรณาการทุกหน่วยเตรียมรับมือน้ำหลากปีนี้ เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญๆ

ข่าวทั่วไป Monday May 21, 2018 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบแผนงานสำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานว่า งบประมาณบูรณาการด้านน้ำปี 2562 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 63,271 ล้านบาท แต่ยังคงมีบางหน่วยงานนำเสนอแผนงานด้านน้ำเพื่อขอรับงบประมาณจากแหล่งเงินอื่น ๆ อีก เช่น งบจังหวัด งบกลุ่มจังหวัด หรือในลักษณะบูรณาการอื่น ๆ ที่ประชุมฯ จึงมีมติให้ สทนช.ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ พิจารณาแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและโครงการจากทุกแหล่งเงิน เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับแผนงานอื่น

2.การขับเคลื่อนแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ปี 2562-2565 ที่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีทั้งหมด 30 โครงการ เพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำรวมทั้งหมดได้ 4,320 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 4.5 ล้านไร่ มีโครงการที่ผ่านการพิจารณากรอบวงเงินปี 2562 จำนวน 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย, โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย และโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ พร้อมคลองผันน้ำ 4 สาย จ.สกลนคร และมีโครงการอยู่ระหว่างการออกแบบ จำนวน 3 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ จ.ชัยภูมิ, โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร พร้อมอาคารประกอบ จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร ซึ่งที่ประชุมฯ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอรายละเอียดโครงการสำคัญเหล่านี้ให้ กนช.พิจารณาในการประชุมคราวถัดไป

3.โครงการระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จ.หนองบัวลำภู เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก วงเงินประมาณ 210.82 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่จังหวัดขอรับการสนับสนุนงบประมาณในคราวที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.61 ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบในหลักการให้ จ.หนองบัวลำภู ไปดำเนินการปรับแผนใช้เงินเหลือจ่ายของหน่วยงานในเบื้องต้นก่อน แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้งบกลาง ให้ประสานกับสำนักงบประมาณ และให้กระทรวงพลังงานสนับสนุนระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

4.การปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2550 ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการให้ สทนช.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยเน้นการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ให้ สทนช.เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ พร้อมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ร่วมพิจารณาตัดโอนอัตรากำลังที่สอดคล้องกับภารกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงบประมาณ สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการต่อไป

และ 5.การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ด้านนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ประชุมเห็นชอบให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายในการประสานงานการบริหารจัดการน้ำกับองค์การนานาชาติ องค์การระหว่างประเทศ ความร่วมมือทวิภาคี พหุภาคี และให้เป็นหน่วยงานหลักในการกระจายภารกิจที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานอย่างเป็นเอกภาพ โดยให้ สทนช. กพ. กพร. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการดำเนินการดังกล่าว และเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.ในฐานะเลขานุการ กนช. กล่าวว่า ในส่วนของแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2561 คาดว่าจะมีค่าฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ 5-10% และน้อยกว่าปี 2560 โดยอาจจะเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน และจะมีโอกาสเกิดพายุเข้าประเทศไทยจำนวน 1-2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน มีการวางแผนเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูฝนจำนวน 60 ล้านไร่ และจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในทุกภาคส่วนรวม 88,771 ล้าน ลบ.ม. หลังสิ้นฤดูฝนคาดว่าจะมีน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่การเกษตรฤดูแล้ง ปี 2561/62 ประมาณ 60,064 ล้าน ลบ.ม.มากกว่าปี 2560 จำนวน 10,910 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในปีนี้นั้น ที่ประชุมฯ ได้สั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก โดยให้ สทนช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก การจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ภาคประชาชนในการรับมือน้ำหลาก ในปีนี้ สทนช.เตรียมจัดงาน "การเตรียมความพร้อมจัดการน้ำหลากปี 2561" ในวันที่ 4 มิ.ย.61 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดนิทรรศการเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การบูรณาการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากปี 2561 ซึ่งการดำเนินงานในช่วงต่อจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชนต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่ปี 2557-2560 การดำเนินงานตามมติ กนช.และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเรื่องสำคัญ เช่น การจัดการน้ำอุปโภคบริโภคที่ยังคงเหลือหมู่บ้านที่ไม่มีระบบประปาจำนวน 256 หมู่บ้าน จะดำเนินการเร่งรัดให้ครบทุกหมู่บ้านภายในปี 2562, การปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศ, การกำหนด Area Based 66 พื้นที่ ให้ สทนช.ดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนงานโครงการสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว, การดำเนินการปรับปรุงสิ่งกีดขวางลำน้ำในพื้นที่ภาคใต้ 111 แห่ง กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562, การขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ป่าอนุรักษ์ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการคู่ขนานกันและประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้แหล่งน้ำจำนวน 44 แห่ง ทั่วประเทศ มีปริมาณการกักเก็บเกินกว่าร้อยละ 80 ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้ระบายน้ำออกจากแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ด้านการเพาะปลูกควบคู่กัน ซึ่งคาดว่า ภายในต้นเดือนมิถุนายน จะทำให้ปริมาณการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำทั้ง 44 แหล่ง มีปริมาณการกักเก็บน้อยกว่า ร้อยละ 80

ส่วนสถานการณ์การเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ มีการเพาะปลูกแล้วเต็มที่พื้นที่ ขณะที่พื้นที่ 12 ทุ่งท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้วกว่า ร้อยละ 26 ของพื้นที่ 1.15 ล้านไร่ ดังนั้นพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา รวมกว่า 1.5 ล้านไร่ มีการเพาะปลูกไปแล้วร้อยละ 45 โดยคาดว่าในต้นเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่

นอกจากนี้ ยังได้มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยในทุกพื้นที่ โดยกำหนดสร้างทางเลือกไว้ ที่จะครอบคลุมสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อทำให้ทราบว่าในแต่ละเดือน ตั้งแต่มิถุนายน ถึงตุลาคม พื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งผลการวิเคราะห์จะให้ผลในทุกมิติ ทั้งเรื่องช่วงเวลาและปริมาณน้ำที่จะล้นตลิ่ง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ให้กรมชลประทาน เพิ่มเรื่องการวิเคราะห์พายุที่จะเข้ามามีผลกระทบกับพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ