กรมชลฯ คาดภัยแล้งกระทบปีหน้าปลูกข้าวนาปรังได้แค่ 2-3 ล้านไร่จากกว่า 9 ล้านไร่

ข่าวทั่วไป Thursday June 10, 2010 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมชลประทาน คาดฤดูแล้งปี 53/54 เหลือน้ำที่จะสนับสนุนการทำข้าวนาปรังได้เพียง 2-3 ล้านไร่ จากปี 52/53 ที่สามารถปลูกได้กว่า 9 ล้านไร่ เนื่องจากสภาพน้ำเหลืออยู่น้อยหลังจากจัดสรรสำหรับการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์แล้ว โดยเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาภัยแล้งทั้งมาตรการเฉพาะกิจที่ให้เลื่อนการทำข้าวนาปีไปเป็นเดือน ก.ค.53 จากปกติในเดือน พ.ค.นอกจากนี้ยังเร่งดำเนินการในส่วนของมาตรการระยะกลางและระยะยาว

กรมชลประทาน คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ณ วันที่ 1 พ.ย.53 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 6,700—7,550 ล้าน ลบ.ม.โดยจากรายงานล่าสุด ณ วันที่ 27 พ.ค.53 ทั้งสองเขื่อนมีน้ำรวมกันอยู่ประมาณ 1,193 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 5% ของความจุอ่าง

ส่วนในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนจะมีปริมาณน้ำเต็มเขื่อนทั้งสองแห่ง

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ในฤดูแล้งปีหน้า น้ำที่ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม.จะจัดสรรให้ โดยใช้น้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 500 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อย 500 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีก 1,000 ล้าน ลบ.ม.

และหากป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีในปี 54 จะต้องเก็บน้ำสำรองไว้เพื่อการนี้ ถึง 4,300 ล้าน ลบ.ม. จึงคงเหลือน้ำที่จะสนับสนุนการทำนาปรังในปี 53/54 เพียงประมาณ 2,400-3,250 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะสนับสนุนการปลูกข้าวนาปรังได้เพียงประมาณ 2.4—3.2 ล้าน ไร่(ปี 52/53 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลูกข้าวปรังทั้งสิ้น 9.85 ล้านไร่)

ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวไม่ได้รวมถึงฝนตกหนักที่อาจเกิดจากพายุจร หากเกิดพายุจรมีฝนตกหนักเต็มพื้นที่รับน้ำของเขื่อนทั้งสองแห่ง อาจทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งสองแห่งเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ ช่วยให้สถานการณ์การปลูกพืชฤดูแล้งปี 53/54 ดีขึ้นได้

ปัจจุบัน สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 7 มิ.ย.53 มีปริมาตรน้ำ ทั้งหมดรวม 34,691 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุรวม โดยเป็นปริมาตรน้ำใช้การได้ 10,846 ล้าน ลบ.ม.หรือ 15% น้อยกว่าปี 52 รวม 6,375 ล้าน ลบ.ม. (ณ วันเดียวกันปี 52 มีปริมาตรน้ำ 41,066 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 56%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเท่ากับหรือน้อยกว่า 30% รวม 12 อ่างจากทั้งหมด 33 อ่าง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเท่ากับหรือน้อยกว่า 30% รวม 160 อ่างจากทั้งหมด 367 อ่าง ซึ่งมีผลมาจากเกิดฝนตกน้อยกว่าปกติตั้งแต่เดือน พ.ย.52 จนถึงปัจจุบัน

ประกอบกับมีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งมากถึง 19.78 ล้านไร่ คิดเป็น 161% ของแผนที่กำหนดไว้ 12.28 ล้านไร่ โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งมากถึง 10.28 ล้านไร่ คิดเป็น 161% ของแผนที่กำหนดไว้ 6.93 ล้านไร่ ซึ่งใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นหลัก

ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องตามแผนเตรียมสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ได้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเลื่อนการทำนาปีในเขตโครงการชลประทานทุกโครงการที่รับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จากปกติเดือนพฤษภาคมเป็นประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2553

ส่วนการปฏิบัติการฝนหลวง ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 53 ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.53 เป็นต้นมา จำนวน 5 ศูนย์ ประจำภาคต่างๆ และได้ส่งเครื่องบินจำนวน 21 ลำ ไปตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว จำนวน 11 หน่วย ได้แก่ หน่วยเชียงใหม่พิษณุโลก ลพบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ระยอง จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และสุราษฎร์ธานี และฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 5 ฐาน ได้แก่ จังหวัดตาก นครสวรรค์ สระแก้ว ราชบุรี นครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ได้ย้ายฐานฝนหลวงจากจังหวัดสุราษฏร์ธานีไปประจำอยู่ที่จังหวัดแพร่ เพื่อเติมน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ และย้ายฐานปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดจันทบุรี ไปอยู่ที่จังหวัดตาก เพื่อเติมน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ผ่านมาได้มีการหยิบยกมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แบ่งเป็น มาตรการเฉพาะกิจ ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ ได้แก่ ขอให้เลื่อนการทำนาปีจากปกติเดือน พ.ค.เป็นประมาณกลาง ก.ค.53, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอให้มีการวางแผนที่จะเปลี่ยนระบบการปลูกพืชใหม่, การแก้ไขปัญหาความเค็มของน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง โดยในเดือน มิ.ย.53 ช่วงน้ำทะเลหนุนสูงระหว่างวันที่ 12 -19 มิ.ย.53

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้สำนักฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งทำฝนหลวงช่วยเหลือในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง และเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย และแร่งรัดให้กรมชลประทานดำเนินโครงการแก้มลิงที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งรวมทั้งหมด 190 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ 115 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งอยู่ระหว่างจัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน

ขณะที่มาตรการระยะกลางและระยะยาว จะให้กรมพัฒนาที่ดินวางแผนขุดสระเก็บน้ำในไร่นา และให้กรมชลประทานจัดทำกรอบการพัฒนาการชลประทานให้เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 ในการดำเนินการตามแผนพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้เต็มศักยภาพ 60 ล้านไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ