(เพิ่มเติม) อสส.ยังไม่ฟ้อง"ยิ่งลักษณ์"คดีจำนำข้าว ตั้งคกก.ร่วมป.ป.ช.หาพยานหลักฐานเพิ่ม

ข่าวการเมือง Thursday September 4, 2014 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานอัยการสูงสุด ยังไม่สั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากมองว่ายังมีข้อไม่สมบูรณ์ในข้อกล่าวหา โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างอัยการและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม

นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดได้มีหนังสือแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.และมีคำสั่งให้มีการตั้งผู้แทนอัยการสุงสุดเป็นคณะทำงานร่วมกับผู้แทนคณะทำงาน ป.ป.ช.พิจารณาหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์และรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดี ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งรายงานการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวกรณีการกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฎิบัติ หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรมมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1

ทั้งนี้ อัยการสูงสุดได้มีการชี้แจงประเด็นที่ยังไมสมบูรณ์ ดังนี้ 1.ประเด็นเรื่องของโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้เป็นนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 178 บัญญัติให้การบริหารราชการแผ่นดินรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาด้วย ดังนั้น จึงเห็นว่าควรจะรวบรวมพยายนหลักฐานให้ชัดว่านายกฯ มีอำนาจในการที่จะยับยั้งโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาแล้วหรือไม่

2.ประเด็นเรื่องการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ควรทำการไต่สวน รวบรวมพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความว่าภายหลังจากที่โครงการรับจำนำข้าวได้ถูกท้วงติงจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาได้ดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตหรือไม่ อย่างไร ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร

3.ประเด็นเรื่องการทุจริต ควรจะมีการไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้ได้ความว่าโครงการรับจำนำข้าวพบการทุจริตในขั้นตอนใด และมีการทุจริตอย่างไร นอกจากนั้น มีการกล่าวอ้างถึงรายงานวิจัยโครงการนโยบายข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)ว่าโครงการดังกล่าวมีการทุจริตและมีความเสียหายจำนวนมาก แต่ในสำนวนไต่สวน ปรากฎเพียง หน้าปกรายงานวิจัยเท่านั้น จึงให้ไปรวบรวมรายงานวิจัยทั้งฉบับเป็นพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนให้สมบูรณ์ด้วย

นายวันชัย กล่าวว่า การตั้งคณะทำงานร่วมทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องดำเนินการภายใน 14 วัน ซึ่งจะมีกรรมการฝ่ายละ 10 คน ส่วนกรอบการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับคณะทำงานจะมีการประชุมร่วมกันและข้อตกลงร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ไม่ได้มีแรงกดดันทางการเมือง และไม่กังวลต่อคำครหาที่อัยการสูงสุดมักถูกมองว่าไม่ดำเนินการส่งฟ้องเรื่องจาก ป.ป.ช.หรือองค์กรอื่น

"การหน้าที่ของแต่ละองค์กรก็ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งไม่ห่วงในข้อครหาดังกล่าว การทำงานของอัยการสูงสุดจะทำงานตามกฎหมายและหลักการ โดยไม่กังวลต่อแรงกดดันตามกระแสใดๆ ทั้งนี้จะมีการเรียกสอบพยานเพิ่มเติมตามที่ทนายผู้ถูกกล่าวหาร้องขอความเป็นธรรมหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะทำงานร่วมทั้ง 2 ฝ่าย" นายวันชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ