"วิษณุ"พอใจเวทีแจงทำประชามติร่าง รธน.สร้างสรรค์ หนุน กกต.เดินหน้าจัดต่อ

ข่าวการเมือง Friday May 20, 2016 09:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันเนื้อหาส่วนใหญ่ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยึดตามเดิม มีเพียง 2 ประเด็นที่เปลี่ยนแปลง คือ บัญญัติการกระทำความผิดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะปัจจุบันมีการแสดงความเห็นต่างๆ ผ่านทางโลกออนไลน์มากขึ้น และการเพิ่มโทษกลุ่มบุคคล 5 คนขึ้นไปที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย แต่ประชาชนยังมีสิทธิเต็มที่

นายสมชัยได้ตอบคำถามของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงความหมายของคำว่าหยาบคาย ก้าวร้าว ข่มขู่ รวมถึงการสวมเสื้อรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่าทำได้หรือไม่ ว่า ตามมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ มี 7 วงเล็บ ซึ่งทั้งหมดเป็นสาระเดียวกับกฎหมายการทำประชามติในอดีต ไม่มีความแตกต่าง แต่มาตรา 61(2) ได้เพิ่มคำว่าสื่ออิเล็กอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไป และหากไปดูประกาศของ กกต.ก็จะเห็นตัวอย่าง 6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้เอาไว้ ซึ่งหัวใจสำคัญที่กกต.คำนึงถึง คือ ข้อเท็จจริงในร่างรัฐธรรมนูญ หากมีการบิดเบือนเนื้อหา ถือว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องในอนาคต หรือคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า หากรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ ส่วนคำหยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง เปรียบเทียบมาตรฐานชนชั้นกลาง เช่น กู มึง พูดได้ ไม่ถือว่าหยาบคาย แต่หากพูดปลุกระดม กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมทำไม่ได้ แต่ต้องให้ระมัดระวังการทำผิดกฎหมายอื่นๆและคำสั่ง คสช. ด้วย

"การชักชวนให้ใส่เสื้อ ติดป้ายรับ สามารถทำได้ หากไม่นำไปสู่ปลุกระดม ส่วนการขายเสื้อของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม กกต.ยังไม่ชี้ว่าผิดหรือไม่ แต่ถ้าไปสู่การปลุกระดม ข่มขู่ จะถือว่าผิดทันที เข่นเดียวกับการใส่เสื้อ Yes No ก็สามารถทำได้" นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย ยืนยันว่า ในมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ และประกาศข้อห้ามของ กกต. เขียนละเอียดชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วจะไม่มีการอธิบายและขยายความเพิ่มเติมอีก เพราะเป็นภาษากฎหมาย และการที่ให้เจ้าหน้าที่ไปชี้แจงประชาชนเป็นเพียงการนำข้อเท็จริงในร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้รับรู้ ไม่สามารถบอกให้รับหรือไม่รับ

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาในวันนี้เริ่มต้นจากความไม่รู้ และสิ่งที่น่ากลัวคือ คิดว่าเรื่องที่เรารู้นั้นถูกต้อง ดังนั้นเวทีนี้คือ ทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน แม้ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ มีความไม่ชัดเจนในหลายประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยอยู่จริง แต่การจะทำให้เกิดความเข้าใจกันทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก โดย พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ในมาตรา 7 ถือเป็นหลัก เพราะได้พูดถึงบุคคลมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นโดยไม่ขัดกฎหมาย ดังนั้นการแสดงความเห็นต้องยึดมาตรา 7 เว้นแต่จะเข้าข่ายตามมาตรา 61 ที่เป็นข้อยกเว้น ไม่ให้กระทำการที่ไม่เป็นความจริง ห้ามรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ ดังนั้นหากไม่เข้าข่ายเหล่านี้ก็ไม่ผิด และการ "ชี้นำ" หรือ "รณรงค์" ที่หลายฝ่ายพูดถึงนั้น ก็ไม่ได้ผิดและไม่มีการเขียนไว้ในกฎหมาย แต่ทั้งนี้ต้องระวังการทำผิดคำสั่ง คสช. ด้วย

นายวิษณุ กล่าวว่า คำว่า ปลุกระดม นั้น เป็นคำที่อธิบายความหมายค่อนข้างยาก โดยแนะให้ไปเปิดความหมายที่จากพจนานุกรมจะได้ไม่ทำผิด ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเคยกล่าวกับตนเองว่า ทำไมไม่มีการตั้งกรรมการกฎหมายขึ้นมา เพราะบุคคลที่จะดำเนินคดีตามมาตรา 61 คือ มี กกต. กับ ตำรวจ นายกฯจึงเห็นว่า น่าจะมีกรรมการกฎหมายขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง กกต.ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอยู่แล้ว ส่วนตำรวจนั้นรัฐบาลจะกลับไปพิจารณาตั้งกรรมการเพื่อดูแลในเรื่องนี้

นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอำนาจในการพิจารณาให้มีการประชุมพรรคการเมืองได้ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของคนที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้มีสัญญาณหลายอย่างที่ดีขึ้น เช่นที่ ผู้บัญชาการทหารบกมีแนวคิดยกเลิกการเรียกบุคคลมาปรับทัศนคติ แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศด้วย และดูจังหวะเวลาที่สมควร ไม่ต้องการปลดล็อคอันหนึ่งเพื่อไปสร้างล็อคอันใหม่ ขอทุกคนอย่าวิตก หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านและประกาศใช้ จะมีอะไรหลายอย่างที่ต้องพิจารณาปรับปรุง จะต้องมีการทบทวนหลายอย่าง

นายวิษณุ กล่าวว่า ดีใจที่มีการประชุมเช่นนี้เกิดขึ้น เป็นการประชุมที่สร้างสรรค์ และอยากเห็นบรรยากาศเช่นนี้ต่อไป แต่ก็ต้องดูปัจจัยเรื่องความสงบเรียบร้อย ที่รัฐบาลต้องดูแลจากนี้ไป และมองว่า ช่วงเวลาจากนี้ล่อแหลม เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการแตกแยกขัดแย้งได้อีก

นายวิษณุ กล่าวว่า บรรยากาศวันนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ถือเป็นการเปิดปฐมฤกษ์ในการสร้างความเข้าใจ และเพื่อให้ กกต.สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป และถือเป็นการรับข้อเสนอของพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการต่อแม่น้ำ 5 สาย และ กกต.ซึ่งตนเองก็นำผลการหารือวันนี้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่ข้อสรุปหรือสามารถรับปากได้ว่าจะมีการปลดล็อคผ่อนปรนคำสั่ง คสช. ในเรื่องอนุญาตให้จัดกิจกรรมพรรคการเมืองได้หรือไม่ ซึ่งจะสรุปรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ นำเสนอต่อที่ประชุม คสช.ในลำดับต่อไป จึงไม่อยากสรุปไปก่อนเพราะกลัวจะเสียคำพูดภายหลัง

ด้านนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำ นปช.กล่าวว่า ขอบคุณทุกองค์กรที่เปิดเวทีในวันนี้ สิ่งที่ได้จากวันนี้คือภาพที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีอำนาจเปิดพื้นที่และสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อร่าง รธน.มากขึ้น แม้ว่าในเนื้อหาสาระของการชี้แจงอาจจะไม่แตกต่างจากที่เคยชี้แจงผ่านทางสื่อมวลชน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช.เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรีเหมือนกับที่เคยปฏิบัติในการลงประชามติเมื่อปี 2550 ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การทำประชามติอย่างแท้จริง และพร้อมให้ความร่วมมือหากรัฐบาลจะมีการเปิดเวทีแสดงความเห็นอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ