ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ร่วงเทียบสกุลเงินหลักๆ จากข่าวเฟดเตรียมซื้อบอนด์ $5 แสนล้าน

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 21, 2010 07:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (20 ต.ค.) หลังจากมีข่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วางแผนที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์ในเร็วๆนี้

ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลง 0.49% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 81.160 เยน จากระดับของวันอังคาร (19 ต.ค.) ที่ 81.560 เยน และดิ่งลง 0.91% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 0.9624 ฟรังค์ จากระดับ 0.9712 ฟรังค์

ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้น 1.57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3948 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันอังคารที่ 1.3732 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้น 0.76% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5835 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5715 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นแตะระดับ 0.9861 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันอังคารที่ 0.9690 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.7540 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7441 ดอลลาร์สหรัฐ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับยูโร หลังจากมีข่าวว่าเฟดกำลังพิจารณาใช้งบประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการดำเนินการเบื้องต้นของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งข่าวดังกล่าวส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆด้วย

ก่อนหน้านี้ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันอยู่ก่อนแล้วจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า คณะกรรมการเฟดจะประกาศใช้มาตรการ QE ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ในการประชุมต้นเดือนพ.ย.นี้ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในภาวะเปราะบางในขณะนี้

เฟดเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของเฟดทั้ง 12 เขต หรือ Beige Book ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐขยายตัวในระดับปานกลาง โดยกิจกรรมด้านการผลิตในเกือบทุกเขตมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของปริมาณการผลิตและยอดสั่งซื้อในภาคการผลิต

อย่างไรก็ตาม การที่เฟดระบุว่าผู้บริโภคยังคงรัดเข็มขัดด้วยการเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นและตลาดที่อยู่อาศัยในเกือบทุกเขตยังคงอ่อนแอ ได้สนับสนุนกระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะใช้มาตรการ QE ในการประชุมต้นเดือนหน้า

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนก.ย. และผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจเดือนต.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ