กสิกรฯ คาดเงินเฟ้อ H2/55 เร่งตัวเกิน 4% ผลพวงปรับค่าจ้าง-ต้นทุนพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 1, 2012 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักจากผลของฐานเปรียบเทียบ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.3-3.4% แต่เงินเฟ้อครึ่งปีหลังจะมีโอกาสเร่งตัวขึ้นเกินกว่า 4% ตามกระบวนการส่งผ่านแรงกดดันด้านต้นทุนของผู้ผลิต

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 จะมีค่าเฉลี่ยที่ 3.9% (กรอบคาดการณ์ที่ 3.5-4.5%) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 55 อาจมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปี 54 มาอยู่ที่ 3% (กรอบคาดการณ์ที่ 2.6-3.6%)

ทั้งนี้ต้องจับตาทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังมีโอกาสขยับขึ้นเข้าใกล้กรอบบนของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบันที่ 0.5-3.0% ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นช่วงที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะกลับมาสูงขึ้น พร้อมกับโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอาจมีนัยตามมาต่อการกำหนดจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธปท.ในช่วงเวลานั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมทางการเงินที่ผ่อนคลายจากการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำและการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป ซึ่งเอื้อต่อกระแสเงินลงทุนไหลเข้าตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนข้อพิพาทและมาตรการตอบโต้ระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกและอิสราเอล อาจทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อมีภาพที่ชัดขึ้นในระยะข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจชะลอลงมามีค่าเฉลี่ยที่ระดับประมาณ 3.3-3.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 จากระดับเกิน 4.0% ในช่วงครึ่งหลังของปี 54

นอกจากนี้ จากผลกระทบระลอกสอง (Second Round Effect) หลังการปรับเพิ่มราคาน้ำมัน-พลังงาน และค่าจ้างแรงงาน อาจเพิ่มเงินเฟ้อคาดการณ์ ซึ่งย่อมจะทำให้แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 55 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาครัฐสามารถทยอยลดมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน และเศรษฐกิจไทยยังสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ปัจจัยเพิ่มแรงกดดันด้านต้นทุนผู้ผลิตและหนุนระดับราคาสินค้าผู้บริโภค ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องต่อการไล่ระดับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 55 ให้มีโอกาสสูงกว่า 4.0%นั้น จะเริ่มก่อตัวขึ้นในระหว่างไตรมาสที่ 2/55 เช่น การปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด, การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟที, แรงหนุนราคาอาหารที่อาจขยับขึ้นตามโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะมีการกลับมาทยอยเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ