รมช.พาณิชย์ เผยอินเดีย-พม่า เซ็น MOU 12 ฉบับเน้นโลจิสติกส์ ดันการค้าไทยขยายตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 7, 2012 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ล่าสุดอินเดียและพม่าได้ลงทุนความตกลง 12 ฉบับ มีสาระครอบคลุมถึงความร่วมมือและแบ่งงานกันพัฒนาปรับปรุงถนนหลักหลายสายในพม่าและยกระดับให้เป็นทางหลวงเชื่อม 3 ประเทศเข้าด้วยกัน อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “มองตะวันออก"ของอินเดียที่ต้องการจะเข้าไปมีบทบาททั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว กับกลุ่มประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การลงนามความตกลงต่างๆ ทั้ง 12 ฉบับ อาทิ 1.บันทึกความเข้าใจกรณีอินเดียให้วงเงินสินเชื่อ(Line of Credit) แก่พม่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งใช้เกี่ยวกับการพัฒนาระบบชลประทาน ทางรถไฟ และการพลังงาน 2.ความตกลงด้านบริการเกี่ยวกับการบิน เช่น เครื่องบินอินเดียสามารถขอจอดพักที่สนามบินย่างกุ้ง ก่อนบินต่อไปยังกรุงเทพฯ เป็นต้น 3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องความร่วมมือฯพัฒนาพื้นที่พรมแดนของทั้งสองประเทศ โดยการร่วมสร้างสะพานฯ ถนนและโรงเรียน 4.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานร่วมฯทางด้านการค้าและการลงทุนฯ เพื่อติดตามและผลักดันการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงตามนโยบายหรือเป้าหมายที่วางไว้ 5.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งศูนย์การศึกษาและวิจัยทางการเกษตรชั้นสูง 6.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งร้านตลาดค้าขายตามแนวชายแดน อินเดีย มีพรมแดนติดพม่ายาว 1,600 กิโลเมตร เป็นต้น

“อินเดียต้องการความร่วมมือจากพม่าอย่างสูง เพราะอยู่ใกล้ชิดติดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการนำอินเดียไปสู่ดินแดนหลากหลายวัฒนธรรม-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากพม่าเปิดประเทศมากขึ้นและให้ความร่วมมือกับอินเดียอย่างจริงจังในการพัฒนาปรับปรุง ทางหลวงฯและเป็นทางผ่านในการเชื่อมต่ออินเดียกับไทยผ่านทางแม่สอด จ.ตาก และไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ก็จะทำให้อินเดียเข้ามามีบทบาทได้สะดวกยิ่งขึ้น"

ทั้งนี้ อินเดียหวังไว้ว่าทางหลวงดังกล่าว ซึ่งเรียกกันในนาม “ทางหลวงไตรภาคี" จะแล้วเสร็จในปี 2559 ซึ่งไทยก็จะได้รับประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคฯและเป็นเป้าหมายหลักของอินเดียที่ต้องการเข้ามาค้าขายและลงทุนกับไทย รวมทั้งใช้เป็นฐานขยายการค้าและการลงทุนไปยังเพื่อนบ้านอาเซียนอื่นๆ ในขณะเดียวกันไทยก็ต้องการใช้ทางหลวงฯดังกล่าวขนส่งสินค้าผ่านพม่าไปขายอินเดียเช่นกัน นับเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางการค้าเพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการไทย

นายภูมิ กล่าวถึงการขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทย ว่า จากการมีระบบโลจิสติกส์ที่สนับสนุนการค้าระหว่างไทยกับภูมิภาคเอเชียใต้ รวมถึงกรณีที่ประชากรในอินเดียมีอัตราเพิ่มขึ้นจำนวนมากนั้น เชื่อว่า การค้าไทยยังขยายตัวได้อีกมากในภูมิภาคนี้ รวมถึงรัฐบาลอินเดียมีความพยายามที่จะออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนในการเกษตรและการผลิตอาหารแบบยั่งยืน การลงทุนในด้านข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อลดความเสียหายของสินค้าเกษตรกรรม และการสร้างความร่วมมือกับเอกชนในการสร้างระบบตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ายังเป็นสิ่งที่อินเดียต้องการความช่วยเหลือจากประเทศที่มีประสบการณ์การผลิต-การตลาดสินค้าเกษตรอย่างมาก

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มบิมสเทค หรือกลุ่มความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลว่าด้วยความร่วมมือหลากหลายสาขาทางเทคนิคและเศรษฐกิจ ประกอบด้วย อินเดีย บังคลาเทศ ภูฏาน เนปาล พม่า และศรีลังกา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552-2554)มีการค้ารขยายตัวที่เพิ่มขึ้นจาก 10,408 เป็น 13,011 และ 16,230 ล้านเหรียญสหรัฐฯตามลำดับ โดยในช่วง 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.)ของปี 2555 มีการค้ารวมมูลค่า 5,301 ล้านเหรียญสหรัฐฯแบ่งเป็นการส่งออก 3,280 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 0.07% ขณะที่การนำเข้า 2,021 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.02% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ คือ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา เป็นต้น สินค้านำเข้า ก๊าซธรรมชาติ เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ด้ายและเส้นใย เป็นต้น ส่วนค้าระหว่างประเทศไทย-อินเดียใน 4 เดือนแรก มีมูลค่ารวม 2,797.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการส่งออกจากไทย 1,779 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 2.12% และไทยนำเข้าจากอินเดีย 1,018 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 3.37% ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า จำนวน 760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่าการค่าดังกล่าว อินเดียเป็นตลาดส่งออกสำคัญ อันดับที่ 10


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ