TMB คาด กนง.ตรึงดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปี มองอัตรา 3% สอดคล้องศก.ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 28, 2012 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB Analytics) ประเมินว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% ติดต่อกันถึง 4 ครั้ง และคาดจะคงดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกเป็นครั้งที่ 5 ในการประชุมวันที่ 5 ก.ย.นี้ แต่ด้วยโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง และวิกฤตหนี้ยุโรปส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก ทำให้มุมมองในการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มมากขึ้น

TMB Analytics มองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ 3% ยังคงเป็นอัตราที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยในภาวการณ์ปัจจุบัน เพราะหากพิจารณาจากเป้าหมายของนโยบายการเงินเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา จะเห็นว่าเงินเฟ้อพื้นฐานในไตรมาส 2/55 ได้แผ่วลงจาก 3 เดือนแรกของปีมาอยู่ที่ระดับ 1.9% ซึ่งใกล้กับจุดกึ่งกลางของกรอบเป้าหมายที่ กนง.ประกาศไว้ที่ 0.5-3.0% ต่อปี ทำให้แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภาวะนโยบายการเงินยังคงมีน้อย

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาพันธกิจควบคู่ของ ธปท.ในการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง จะได้ข้อสรุปที่คล้ายกันว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เนื่องจากผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(GDP) ในปัจจุบันได้ขยายตัวสูงกว่าระดับที่ควรจะเป็น (Potential output) ประมาณ 2.5% จากอานิสงส์การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายหลังน้ำท่วมใหญ่ปีที่ผ่านมา สะท้อนจาก GDP โตดีเกินคาดในไตรมาส 2/55 ที่ขยายตัวได้ 4.2% ดังนั้นการลดดอกเบี้ยจึงอาจทำให้เศรษฐกิจไทยร้อนแรงเกินไป ส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้

อย่างไรก็ดี แม้ถึงแม้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจจะนำไปสู่การไหลออกของเงินทุน ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงและอาจช่วยเหลือผู้ส่งออกได้ ตามแนวคิดทฤษฎีความเสมอภาคของอัตราดอกเบี้ย(Interest parity) แต่ทฤษฎีเดียวกันนี้ก็ชี้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงแรกจะทำให้สินทรัพย์ในประเทศมีราคาถูกลงในสายตาของต่างชาติ (หนึ่งดอลลาร์เท่าเดิมจะซื้อหุ้นไทยได้มากขึ้น) และเมื่อรวมกับเงินตราต่างประเทศที่ผู้ส่งออกอาจได้รับจากยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้บาทกลับมาแข็งค่าได้ในระยะต่อไป การควบคุมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศไม่ให้ขยับมาก จึงเป็นการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไปในตัว

"เมื่อมองเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว หากความเสี่ยงขาลงจากปัจจัยนอกประเทศ ไม่ได้ทวีความรุนแรงจนเกินคาด กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3% จนถึงปลายปี และอาจมีแนวโน้มขาขึ้นในปีหน้าจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้จากการเติบโตของอุปสงค์ภายในประเทศ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ