TMB ห่วงผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง หลังการเมืองส่อยืดเยื้อถึงไตรมาส 2

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 27, 2014 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB Analytics) ระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การเดินขบวนและชุมนุมในย่านเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่งเป็นระยะเวลานาน ได้ส่งผลให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีแนวโน้มยืดเยื้ออาจเลยเข้าไตรมาสที่ 2 อีกทั้งทิศทางเศรษฐกิจยังดูเหมือนจะอยู่ในภาวะซบเซา ต่อเนื่องจากการบริโภคและการลงทุนที่อ่อนแอ ทำให้ผู้ประกอบการประสบกับความยากลำบากในการบริหารจัดการธุรกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี พบว่า กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ มักจะเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูง ทำให้ต้องแบกรับภาระการชำระหนี้แม้ในภาวะที่กระแสเงินสดอาจไม่แน่นอน อีกทั้งหากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการหมุนเงินสดนานหลายวัน หรือมีช่วงเวลาระหว่างการจ่ายเงินเพื่อการดำเนินงานของธุรกิจจนกระทั่งการรับเงินรายได้ที่นาน ปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้ออาจส่งผลให้วงจรกระแสเงินสดดังกล่าวสะดุดหรือติดขัดในเรื่องการเบิกจ่าย ทำให้ต้องใช้เวลานานมากขึ้น ซ้ำเติมภาวะธุรกิจที่ไม่แน่นอนอยู่แล้วเข้าไปอีก

เมื่อนำลักษณะดังกล่าวมาวิเคราะห์เพิ่มเติมดู จะเห็นได้ว่า ธุรกิจผลิตและขายเฟอร์นิเจอร์ เป็นธุรกิจที่มีระยะเวลาการหมุนเงินสดยาวนานอาจถึง 95 วัน รวมถึงมักมีสินค้าคงเหลือในสต็อกสูง อีกทั้งเมื่อประสบกับสถานการณ์การชุมนุม การขนส่งลำเลียงสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็จะเป็นไปได้ยากลำบากขึ้นทำให้เกิดความไม่สะดวก และลูกค้าอาจยกเลิกการตัดสินใจซื้อ ส่งผลกระทบต่อเงินสดที่จะได้รับและความสามารถในการชำระหนี้สิน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกกลุ่มที่จะต้องเอาใจใส่เรื่องกระแสเงินสดเป็นพิเศษ เพราะเป็นธุรกิจที่มีวงจรหมุนเงินสดช้ามากกว่า 5 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่ใกล้พื้นที่ชุมนุม เพราะจะทำให้ลูกค้ามีการชะลอการซื้อโครงการออกไป รวมทั้งธุรกิจผู้ผลิตเสื้อผ้าก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ยังพึ่งพายอดขายจากภายในประเทศเป็นหลัก เพราะมีระยะเวลาหมุนเงินสดช้าถึง 103 วัน และมักมีสินค้าค้างสต็อกสูงมากกว่า 3 เดือน ทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากปัจจัยรุมเร้าต่างๆ เช่นนี้ ผู้ประกอบการอาจประสบปัญหาในการบริหารสภาพคล่องได้

ในส่วนของธุรกิจท่องเที่ยวนั้น แม้จะเป็นกลุ่มที่วงจรการหมุนเงินสดไม่จัดว่านานมากนัก แต่เป็นธุรกิจที่มีระดับหนี้และดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับกระแสเงินสดเป็นสัดส่วนที่สูง อีกทั้งผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติตะหนกกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศ ทำให้มีการยกเลิกห้องพักและการงดใช้บริการของบริษัททัวร์สูงขึ้น โดยผลกระทบหลักๆ นั้น แม้จะอยู่ในพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ขณะที่ในส่วนของแหล่งท่องเที่ยวอื่น เช่น ภูเก็ต, เชียงใหม่ และพัทยา นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไปได้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก ควรมีการวางแผนปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะสั้นที่ยังมีการชุมนุมทางการเมืองอยู่ ลูกค้าบางกลุ่มจะหันไปใช้บริการสาขานอกพื้นที่ชุมนุมเพิ่มขึ้น จึงอาจมีความจำเป็นต้องโยกทรัพยากรและบุคลากรจากย่านที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมไปเพิ่มที่ชานเมืองชั่วคราว เพื่อที่จะลดต้นทุนการเปิดบริการและค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นในย่านชุมนุม

อีกทั้ง หากคาดว่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากประเด็นทางการเมือง ควรมีการประสานงานกับเจ้าหนี้และสถาบันการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจและมีเวลาในการเตรียมตัวหากมีความจำเป็นที่ต้องขอให้ยืดเวลาชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบ หรือการชำระหนี้ต่างๆ ออกไป ตลอดจนพิจารณาชะลอการลงทุนที่อาจจะกระทบกระแสเงินสดออกไปก่อน และเตรียมวงเงินสภาพคล่องสำรองให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ต้องหมั่นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะธุรกิจของคู่ค้า เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจของตนให้รอบด้านมากขึ้น รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจที่อาจไม่ได้รับผลกระทบทางการเมืองแต่ลูกค้าและคู่ค้ากลับมีความกังวลจากสถานการณ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและคู่ค้าถึงความต่อเนื่องทางธุรกิจ การมีความมุ่งมั่นและการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้ในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ