ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดอัตราว่างงานปี 57 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามสัญญาณศก.ซบเซา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 30, 2014 11:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการว่างงานในปี 2557 มีโอกาสขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 0.8 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 0.7-1.0) จากร้อยละ 0.7 ในปี 2556 โดยจำนวนผู้ว่างงานอาจเพิ่มขึ้นมามีค่าเฉลี่ยประมาณ 3.20 แสนคนต่อเดือน คน (กรอบคาดการณ์ 2.90-3.80 แสนคน) จากระดับ 2.82 แสนคนในปี 2556 โดยหากพิจารณารวมจำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับที่น่าจะเพิ่มขึ้นมากในปีนี้ (สะท้อนถึงภาวะการว่างงานแฝงที่น่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น) ก็อาจทำให้อัตราการว่างงานรวมผู้ทำงานต่ำระดับขยับสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 1.5 เทียบกับร้อยละ 1.3 ในปี 2556
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 1.8 ในปีนี้ อาจกดดันให้ตลาดแรงงานในภาพรวมมีภาพที่ซบเซาลง"

ทั้งนี้ แม้อัตราการว่างงานของไทยในปี 57 จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังเป็นระดับที่ต่ำมาก และบ่งชี้ถึงสภาพความตึงตัวของตลาดแรงงานไทยที่ยังคงอยู่ และสะท้อนว่า ยังคงมีภาวะการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแรงงานพื้นฐานที่ยังคงมีความต้องการสูงในหลายๆ สาขาการผลิต

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้ น่าจะคลี่คลายลงในช่วงที่เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งทำให้โจทย์ที่ท้าทายในระยะยาวของตลาดแรงงานไทย ยังคงเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน (โดยเฉพาะแรงงานขั้นพื้นฐาน และแรงงานกึ่งทักษะ) ความไม่สมดุลของจำนวนแรงงานและความต้องการในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการชะลอตัวลงของผลิตภาพแรงงาน ประเด็นดังกล่าวอาจฉุดรั้งความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และบดบังจุดเด่นของแรงงานไทยที่มีความได้เปรียบด้านความคิดสร้างสรรค์ และมีความละเอียดประณีต เมื่อเทียบกับแรงงานเพื่อนบ้านในอาเซียน

ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ นายจ้าง/ภาคธุรกิจ และตัวแทนภาคแรงงาน ควรร่วมมือกันวางแนวทางเพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะภาครัฐที่อาจต้องเป็นแกนหลักในการวางแผนการพัฒนาแรงงานแบบบูรณาการ ด้วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ปฏิรูประบบการศึกษา และกำหนดแนวทางการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคเอกชนนั้น อาจสร้างแรงจูงใจในการทำงานด้วยทัศนคติเชิงบวก และให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการพัฒนาทักษะ/คุณลักษะที่จำเป็นต่อการปฎิบัติงาน ทั้งในส่วน On-the-job training และการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม/สัมมนา/ดูงาน ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถทำได้ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยให้แรงงานสามารถทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องเร่งวางแนวทางรับมือกับ 2 โจทย์ใหญ่ที่รออยู่ในระยะข้างหน้า เพราะปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทยยังมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและอัตราการเกิดที่ลดต่ำประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่นิยมศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงานทยอยปรับตัวลดลง ซึ่งเมื่อรวมกับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวกลับประเทศที่น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าเมื่อมีการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเศรษฐกิจไทยทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปีข้างหน้า (ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นในทุกสาขาการผลิต) ก็คงจะทำให้ภาวะความตึงตัวของตลาดแรงงานไทยกลายเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานทักษะระดับล่างที่คงจะประสบภาวะตึงตัวในระดับรุนแรง และกลุ่มแรงงานกึ่งทักษะที่มีความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี รวมทั้งกลุ่มแรงงานทักษะสาขาวิชาชีพเฉพาะที่น่าจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

อีกทั้งอัตราการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานไทยชะลอลงอย่างต่อเนื่องหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพตลาดแรงงานใกล้เคียงกัน โดยนอกจากจะเป็นผลมาจากความอ่อนด้อยด้านทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงาน อาทิ ภาษาต่างประเทศ การใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นต่อการทำงานแล้ว สภาพแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ก็ส่งผลทำให้การพัฒนาทักษะแรงงาน/เทคโนโลยีในหลายๆ สาขาอุตสาหกรรมไม่มีความต่อเนื่องภายใต้ข้อจำกัดทางด้านการเงินที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ สภาวะดังกล่าวอาจส่งผลกดดันทางอ้อมให้แรงงานบางส่วนปรับตัว โดยอาจยอมทำงานที่ใช้ทักษะต่ำกว่าระดับความสามารถ หรือไม่ตรงกับคุณสมบัติของตน ซึ่งทำให้ผลิตภาพแรงงานของไทยในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเมื่อประกอบกับประเด็นค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ก็อาจส่งผลต่อการรักษาจุดยืนในการเป็นฐานการผลิต และการคงไว้ซึ่งระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาวอย่างยากจะหลีกเลี่ยง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ