TDRI เผยผลวิจัยจำนำข้าวใน 3 ปีรัฐใช้เงินเกือบล้านลบ. ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 5, 2014 11:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่องการคอร์รัปชั่น กรณีศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด ถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 54-57 พบว่าเป็นโครงการแทรกแซงตลาดข้าวไทยครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ โดยรัฐบาลใช้เงินในโครงการดังกล่าวไปถึง 9.8 แสนล้านบาท มีการรับซื้อข้าวทั้งสิ้น 54.4 ล้านตัน หรือคิดเป็น 53% ของผลผลิตทั้งหมด โดยมีชาวนาร่วมโครงการมากที่สุด 1.77-1.78 ล้านราย จากชาวนา 3.5-3.6 ล้านรายทั่วประเทศ ในช่วงฤดูการผลิตปี 55/56 และมีโรงสีเข้าร่วมโครงการ 826 แห่ง โกดัง 1,685 แห่ง มีผู้ตรวจข้าว 20 คน

สำหรับการตีราคาสต็อกข้าวสิ้นสุด ณ 31 ต.ค.57 พบว่ามีข้าวในสต็อกถึง 85% ที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และทำให้รัฐบาลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งหากประเมินปริมาณข้าวคงเหลือในสต็อก 17 ล้านตัน ว่าจะขายหมดภายใน 10 ปี จะทำให้มีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 9.6 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 3 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ นโยบายรับจำนำข้าวยังก่อให้เกิดต้นทุนและความเสียหายต่อสังคมมากกว่าเกิดประโยชน์ต่อชาวนาและผู้บริโภคคิดเป็นมูลค่า 1.23 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังพบว่าชาวนาในโครงการมีรายได้ทางตรงเพิ่มขึ้น 2.96 แสนล้านบาท แต่เมื่อรวมประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโครงการแล้วจะอยู่ที่ 5.61 แสนล้านบาท โดยประโยชน์ส่วนใหญ่ของโครงการนี้จะตกอยู่กลับชาวนารายกลางและรายใหญ่มากกว่าชาวนารายเล็กที่ยากจน

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า โครงการรับจำนำข้าวมีค่าเช่าทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 5.85 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 41% ของ GDP เกษตร จึงทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงทุนเพื่อแสวงหากำไรพิเศษนี้เป็นการถลุงทรัพยากรที่แท้จริงของประเทศ และส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นทุนปลูกข้าวที่แพงขึ้น, การใช้น้ำชลประทานมากกว่าแผนการจ่ายน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำแล้งในปีนี้ และการเก็บข้าวไว้ในโกดังจนเสื่อมคุณภาพ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ